posttoday

เสนอตั้งกองทุนวัคซีน5หมื่นล้าน

19 เมษายน 2564

นักวิชาการ เสนอตั้งกองทุนวัคซีน 5 หมื่นล้าน เนื่องจากโควิดกลายพันธุ์ตลอดเวลา คาดไทยติดวันละ 3 พันคน ระบบหมอไทยรับไม่ไหว

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ม. รังสิต กล่าวถึง การกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆของไวรัส Covid-19 จะทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ได้ผลน้อยลง และ อาจจำเป็นต้องฉีดใหม่ทุกปี สร้างต้นทุนมหาศาลต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้และต้องอาศัยนำเข้าวัคซีน และ วิกฤติ Covic19 เป็นวิกฤติสาธารณะครั้งใหญ่คุกคามประชากรมากกว่า 7 พันล้านคนพร้อมๆ กัน จึงประสบภาวะการขาดแคลนวัคซีน

ดังนั้น มีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยาและวัคซีนซึ่งควรจะลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนให้กลไกตลาดและภาคเอกชนพัฒนาการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง ตลาดยาและวัคซีนในประเทศไทยและในระดับโลกนั้นไม่ได้เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ รัฐจำเป็นต้องมีบทบาทส่งเสริม และขณะเดียวกันต้องกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาดเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการได้เมื่อจำเป็น เนื่องจากต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูงมากจึงปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่สัญชาติไทย บริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ควบคุมองค์ความรู้ สิทธิบัตรอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้ซื้อที่ไม่มีอำนาจต่อรองอะไร เวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ทางการแพทย์มักเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตร่วมกัน (Joint Production) เช่น วัคซีน ยารักษา กระบวนการรักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์ จะมีความเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบูรณาการทางด้านการรักษาโรคและการจัดการทางด้านสาธารณสุข การแข่งขันในตลาดยาถูกควบคุมด้วยการคุ้มครองสิทธิบัตร การแทรกแซงด้านราคาโดยรัฐ การควบคุมพฤติกรรมในกานใช้ยาและสั่งจ่ายยาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นมาตรฐาน มีการกระจุกตัวของผู้ผลิตยาและผู้ผลิตอาจทำการควบรวมกิจการกันเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ลดต้นทุนของการวิจัยและการทำตลาด

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า งบประมาณอย่างต่ำ 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาส่งเสริมอุดหนุนอุตสาหกรรมยาและจัดตั้งในรูปกองทุนนั้น ต้องนำมาวิจัยและพัฒนา ยาซึ่งเป็นยาสารเคมีและยาชีวภาพ เพราะบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมทางด้าน Genomics จะเป็นอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด บริษัทวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความสำคัญมากและประเทศไทยนั้นมีความได้เปรียบในเรื่องการมีความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อไปบริษัทยาขนาดใหญ่จะจ้างหรือซื้อสิทธิบัตรจากบริษัท Genomics พวกนี้ สิทธิบัตรยาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคายาสูงขึ้น หากมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดและไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ และจำเป็นต้องมีการวัคซีนทุกปี อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงยาหรือวัคซีนรุ่นใหม่ได้ รัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการการบังคับใช้สิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ซึ่งเป็นการที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้ผลิตยาที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตรยาผลิตยาหรือนำเข้ายานี้จากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิบัตรยาเพื่อชดเชยในความเสียหายที่ขายยาหรือวัคซีนไม่ได้ รัฐบาลสามารถนำมาตรการนี้มาใช้ได้ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดจากโควิดกลายพันธุ์ในอนาคต หรือ รับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้เงินจากกองทุน 50,000 ล้านบาทที่จัดตั้งขึ้นได้ นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในระลอกสามเกินกว่า 3,000 รายต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คาดว่าอุปทานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะไม่สามารถรองรับความต้องการในการรักษา ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ และ อาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยสูงขึ้น แม้นผลกระทบของการแพร่ระบาดในไทยหรือทั่วโลกจะไม่ได้ทำลายระบบการผลิตและอุปทาน แต่ระบบการผลิตและการเดินทางขนส่ง การท่องเที่ยวเกิดการชะงักงันจากการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก ทำให้เกิดการสินค้าบางชนิดจากการหยุดทำงาน หยุดการผลิต เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด กรณีการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆมากมายรวมทั้งการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ความต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งอุปสงค์ต่อบริการทางการแพทย์ได้พุ่งขึ้นอย่างกว้างกระโดดในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้

นอกจากนี้ หลายประเทศประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การดำเนินการดังกล่าวนอกจากช่วยประชาชนของประเทศตัวเองแล้ว ยังเป็นการป้องกันให้ไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดอีกด้วย หากปล่อยให้แพร่ระบาดยืดเยื้อและรุนแรง โอกาสกลายพันธุ์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษเข้ามาแพร่ระบาดในไทยแล้ว และยังไม่สามารถสอบสวนได้ว่า หลุดมาอย่างไร แต่สันนิษฐานว่ามาจากเขมร ความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านสุขภาพอนามัยของชาวไทยจึงไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยสามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและมีการเดินทางข้ามพรมแดนไปมา โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ คือ ทำอย่างไรสามารถป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์จากบราซิล

"การควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีในบางประเทศด้วยการฉีดวัคซีน ทำให้เศรษฐกิจของบางประเทศหรือกิจการบางอย่างสามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว และน่าจะทำให้รูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดการทางด้านสาธารณสุข อันจะส่งผลต่อปริมาณเงิน ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร รวมทั้ง ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงิน" นายอนุสรณ์ กล่าว