posttoday

คาดการณ์เศรษฐกิจไตรมาสสองทรุดหนักอาจติดลบ

11 เมษายน 2564

โควิดระลอกสาม พ่นพิษเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 2% เสนอยาแรงกระตุ้น ลดภาษีแวต ชดเชยเงินคนรายได้ต่ำ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองอาจทรุดหนักถึงขั้นติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกจากการแพร่ระบาดระลอกสามและทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไม่น่าจะถึง 2% ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้เกิดการตื่นกลัวเกินกว่าเหตุจนเกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจรุนแรง การกระจายอำนาจตัดสินใจไปยังจังหวัดเป็นเรื่องที่เหมาะสม

นอกจากนี้ การเปิดเสรีนำเข้าวัคซีนและให้เอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัคซีนจะทำให้สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนดีขึ้น รวดเร็วขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินบาทอ่อนตัวต่อเนื่องจากเงินทุนระยะสั้นทยอยไหลออก ขณะที่เงินไหลเข้าจากรายได้ท่องเที่ยวจากต่างชาติและการส่งออกอาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไตรมาสสามอาจไม่เกิดขึ้นหากการแพร่ระบาดระลอกสามไม่สามารถควบคุมได้ภายในเดือนพฤษภาคม กระแสเงินทุนจะไหลไปยังประเทศที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและเป็นประเทศที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากกว่า 70% และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยซึ่งต้องนำเข้าวัคซีนและวัคซีนที่สั่งจองไว้ก็ยังครอบคลุมเพียงแค่ 45% ของประชากร จะประสบภาวะความยากลำบากในการเผชิญการแพร่ระบาดในอนาคตและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การบริหารจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนของไทยค่อนข้างล่าช้าและขณะนี้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยก็ยังไม่ถึง 2% วิธีที่ดีที่สุด คือ ทุกคนต้องมีวินัยในทำ Social Distancing ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือ ฉะนั้น การบริหารความสมดุลระหว่างนโยบายสาธารณสุขและนโยบายเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก หากเกิดระลอกสามแล้วยืดเยื้อยาวนาน เศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจขนาดย่อม เอสเอ็มอีหรือ คนที่ว่างงานมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจะไม่สามารถทนทานต่อความเดือดร้อนและยากลำบากทางเศรษฐกิจได้ นำสู่วิกฤติทางสังคมได้ ปัญหาทางการเมืองอันซับซ้อนได้

นายอนุสรณ์ เสนอว่า รัฐบาลต้องใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยรายได้ ชะลอการปิดกิจการรักษาการจ้างงาน ด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการคลังและการเงินมากเป็นพิเศษควบคู่กัน โดยดำเนินการทุกๆด้านทุกๆ มิติพร้อมๆ กัน พร้อมทั้งรักษาธุรกิจต่างๆ ให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดสภาพคล่องหรือเกิดภาวะล้มละลายเลิกกิจการด้วยมาตรการการเงินพักชำระหนี้ สามารถรักษาระดับการจ้างงานต่อไปได้ โดยมาตรการประกอบไปด้วย ข้อเสนอแรก ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 6% ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงอีก 1-2%

ข้อเสนอที่สอง เก็บภาษีทรัพย์สินชดเชยภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ข้อเสนอที่สาม ชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาทและได้รับผลกระทบไม่สามารถทำงานได้จากคำสั่งของรัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

ข้อเสนอที่สี่ ออกพันธบัตรระยะยาว 20-30 ปีกู้เงินเพื่อลงทุนทางด้านการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่และผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม New S Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจีสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สร้างฐานอุตสาหกรรมที่ไทยพอมีศักยภาพขึ้นมาใหม่เพื่อชดเชยการจ้างงานที่หดตัวลงจากวิกฤติสุขภาพ covid และผลกระทบจาก Disruptive Technology

ข้อเสนอที่ห้า ต้องยกระดับภาคเกษตรกรรมให้ผลิตสินค้ามูลค่าสูง แปรรูปเพิ่มมูลค่า ลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

ข้อเสนอที่หก เร่งรัดในการออกกฎหมายเพื่อให้มีการพักการชำระหนี้สำหรับภาคท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจที่เป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้จากผลกระทบของมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด