posttoday

มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้แล้ว

31 มีนาคม 2564

คลัง ธปท. แจง มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้แล้ว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ได้ลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 โดยความตกลงฉบับนี้ มีสาระสำคัญประกอบด้วย

1. การเพิ่มสัดส่วนเงินช่วยเหลือที่สมาชิกจะให้ความช่วยเหลือระหว่างกันโดยไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินความช่วยเหลือสูงสุดที่จะได้รับ

2. การยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นเงินสกุลท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ และภายใต้วงเงินรวมคงเดิมที่ 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. การแก้ไขประเด็นทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate: LIBOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

โดยการแก้ไขความตกลงในครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างให้ CMIM ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน+3 มีประสิทธิภาพและความพร้อมในการดำเนินการอันเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและสมาชิกเพิ่มขึ้น

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และธนาคารกลางฮ่องกง) ได้ลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF De-linked Portion) จากเดิมร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด

2. ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นเงินสกุลท้องถิ่น ตามหลักความสมัครใจของทั้งประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือ และประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยอยู่ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมที่ 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. แก้ไขประเด็นทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการยกเลิกการใช้อัตราอ้างอิง London Interbank Offered Rate (LIBOR) เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของกลไก CMIMการแก้ไขความตกลงครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างให้ CMIM ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน+3 มีประสิทธิภาพและความพร้อมในการดำเนินการอันเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและสมาชิกเพิ่มขึ้น