posttoday

ผลสำรวจคนไทยออมเงินมากขึ้นหลังฟื้นโควิด

14 มีนาคม 2564

ผลสำรวจกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างชาวไทยเพิ่มสัดส่วนการออมเป็นลำดับแรก หลังฟื้นโควิด

ผลการสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของธนาคารยูโอบี พบว่าผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพทางการเงินมากขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด และให้ความสำคัญมากกว่ากลุ่มตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เกือบ 3 ใน 4 (ร้อยละ 72) ของคนไทยต้องการจัดการกับเรื่องการเงินเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งมากกว่ากลุ่มตัวอย่างในมาเลเซีย (ร้อยละ 70) เวียดนาม (ร้อยละ 69) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 60) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 46)

ร้อยละ 64 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยกล่าวด้วยว่าพวกเขาได้เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการการเงินและเริ่มต้นที่จะบันทึกค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาวินัยทางการเงินในช่วงโควิด-19 ในบรรดากลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทย(ร้อยละ 66) มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมทางการเงินที่โดดเด่นที่สุด พวกเขาเพิ่มการรัดเข็มขัดและติดตามค่าใช้จ่ายของตนอย่างใกล้ชิดขึ้นมากในช่วงที่มีการระบาด มากกว่าสามในสี่ (ร้อยละ 76) ของมิลเลนเนียลชาวไทยยังกล่าวว่าพวกเขาใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อช่วยติดตามสถานะทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวโน้มพฤติกรรมการติดตามค่าใช้จ่ายนี้ ยังเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียลของ TMRW เช่นกัน ธนาคารดิจิทัลแห่งแรกในอาเซียนโดยธนาคารยูโอบีนี้ มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2563 โดยลูกค้าได้ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ Smart Insights ที่เรียนรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายรายบุคคลด้วยเทคโนโลยี AI และช่วยให้ลูกค้าวางแผนทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ผ่านอินไซต์สรุปรายการค่าใช้จ่ายรายเดือนในแต่ละหมวด พร้อมฟังก์ชันที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายรายเดือนล่วงหน้าได้เอง และรับการแจ้งเตือนเมื่อการใช้จ่ายใกล้ถึงงบประมาณที่ตั้งไว้

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของผู้บริโภคชาวไทยแล้ว การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลต่อเป้าหมายทางการเงินของพวกเขาด้วย การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ปรับเปลี่ยนพอร์ตการเงินใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนของเงินออมคิดเป็นร้อยละ 40 ของการเปลี่ยนแปลง ตามด้วยเงินฝากประจำ (ร้อยละ 39) และแผนประกัน (ร้อยละ 36) หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย (ร้อยละ 36) ยังกล่าวด้วยว่าพวกเขาได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด

นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “การศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอาเซียนปี 2563 นี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยกำลังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างสุขภาพทางการเงิน เพื่อให้พวกเขามีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ในระหว่างการแพร่ระบาด และสามารถฟื้นกลับมาอย่างแข็งแกร่งหลังจากสถานการณ์ผ่านพ้นไป เราพร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือลูกค้าในการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนผ่านความรู้ความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการความมั่งคั่งและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายสำหรับลูกค้ารายย่อยของเรา”

การสำรวจเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาเซียนโดยธนาคารยูโอบี จัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคในอาเซียนให้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามมีจำนวนมากกว่า 3,500 คนจาก 5 ประเทศในอาเซียน รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทยกว่า 600 คน