posttoday

นายกยืนยันแบงก์กรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ

21 กุมภาพันธ์ 2564

นายกรัฐมนตรียืนยัน ไม่มีการบิดเบือนกฎหมายสถานะธนาคารกรุงไทย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (โฆษกรัฐบาล) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อสถานะของธนาคารกรุงไทยว่า ไม่ได้บิดเบือนกฎหมายตามที่มีการอภิปราย ซึ่งจากเดิมธนาคารกรุงไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และในชั้นการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฯ ได้วินิจฉัยว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นไปตามบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานะของธนาคารกรุงไทยในระหว่างที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มีผลใช้บังคับ ไม่ได้แตกต่างกัน

แต่ต่อมา พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 โดยบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีข้อสงสัยว่ากองทุนฯ มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ และมีหนังสือหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันแล้ว เห็นว่ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไม่เข้าลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อกองทุนฯ ถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยมากกว่าร้อยละ 50 ก็ไม่ทำให้ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ

ทั้งนี้ ผลการวินิจฉัยดังกล่าวจึงทำให้ทั้งกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทยไม่ได้เป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และไม่สามารถขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามกฎหมายวิธีการงบประมาณได้ อย่างไรก็ดี บทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ยังมีบัญญัติไว้ตามกฎหมายอื่นด้วย เป็นต้นว่า พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่บัญญัติไว้แตกต่างจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังนั้น การวินิจฉัยว่าหน่วยงานใดเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายหรือไม่ จึงต้องพิจารณาบทนิยามตามกฎหมายแต่ละฉบับ และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 นิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” เป็นอย่างอื่น และธนาคารกรุงไทยเข้าลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามของกฎหมายดังกล่าว การที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะให้ความเห็นว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายดังกล่าว จึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และมิใช่การบิดเบือนกฎหมายตามที่มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร