posttoday

รัฐบาลแจงอีกเราชนะไม่แจกเงินสด กันเงินรั่วไหล

18 กุมภาพันธ์ 2564

เราชนะไม่แจกเงินสดเหมือนเราไม่ทิ้งกัน ป้องกันเงินงบประมาณรั่วไหลน้อยที่สุด

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โพสต์เฟสบุ๊ก มีข้อความว่า

"ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ผมได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อกล่าวชี้แจงความคืบหน้าของผลการอนุมัติและเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลอยากเรียนให้ทุกท่านทราบว่าเราได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 256 โครงการ เป็นวงเงินประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ยังคงเหลืองบอีกราว 2.5 แสนล้านบาท

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐบาลยังไม่รีบใช้งบประมาณทั้ง 1 ล้านล้านบาท ผมจึงขอโอกาสนี้เรียนเพิ่มเติมว่าเพราะเราประเมินว่ายังมีความไม่แน่นอน ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะจบลงเมื่อไร รัฐบาลจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดสรรทรัพยากรที่เราได้มา ในการดูแลเยียวยาประชาชนอย่างรอบคอบ โดยหากรวมมาตรการเยียวยาประชาชนทั้งหมดตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงมาตรการเราชนะ, ม.33 เรารักกัน รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการเยียวยาพี่น้องประชาชนไว้ประมาณ 5.58 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ในการระบาดระลอกใหม่นี้ เราก็มีข่าวดี จากจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่น ในตอนนี้ เหลือเพียงหนึ่งพันกว่าคนที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ผมขอชื่นชมความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และความร่วมมือของภาคประชาชนคนไทยทุกคน จนทำให้สถาบัน Lowy ได้จัดให้ไทยเป็นอันดับ 4 ของโลกในการจัดการระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำความสำเร็จของคนไทยในการร่วมมือกับรัฐบาล เราจึงไม่จำเป็นต้องปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเหมือนในรอบแรก และดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆ ก็ปรับดีขึ้นจากเดือนเมษายน 2563 และแม้จะมีการระบาดรอบใหม่ เศรษฐกิจก็ไม่กลับไปแย่เหมือนในช่วงเมษายน ความสำเร็จในการเยียวและฟื้นฟูในลักษณะของ Co-Pay ทั้งโครงการคนละครึ่ง จากคนที่ได้รับสิทธิกว่า 15 ล้านคน ไม่มีการเอื้อเจ้าสัวอย่างที่หลายคนอ้าง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ทำให้อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 3% ในช่วงเดือนเมษายนขึ้นไปถึง 35% ในเดือนธันวาคม 2563 อีกทั้งเงินงบประมาณของโครงการเราเที่ยวด้วยกันยังมีอยู่ และโครงการจ้างแรงงาน ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก สะท้อนได้จากดัชนีเศรษฐกิจฐานรากที่โต 14% ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากเป็นเงินที่ร่วมจ่ายจากประชาชนที่ได้ช่วยกันดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า ให้คนตัวเล็กเป็นส่วนสำคัญในการได้ช่วยกันฟื้นฟูและเยียวยาในยามวิกฤต เราช่วยกัน เงินจะได้หมุนเวียนหลายรอบอย่างทั่วถึง จากเรา แม่บ้าน สู่ แม่ค้า หาบเร่ ร้านชำ ในตลาด สู่เกษตรกร สู่แปรรูป สู่ผู้ให้บริการสาธารณะ ตัดผม แท็กซี่ หมุนเวียนกลับมาบริโภคในระบบให้นานที่สุด จากแสนล้านบาท เป็นหลายแสนล้านบาท

อีกหนึ่งผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนคือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ได้ผลักดันให้พร้อมกระตุ้นการให้เงินช่วยเหลือภายใต้โครงการเราชนะและเรารักกัน ซึ่งให้ผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” และนำไปใช้ได้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง หาบเร่ แผงลอย และการบริการ เช่น รถรับจ้างสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ และเหตุผลที่ทางรัฐบาลไม่ได้ให้เงินสดเหมือนกับโครงการเยียวยารอบแรก เพราะเราอยากจะให้เงินงบประมาณส่วนนี้เกิดการรั่วไหลน้อยที่สุด ให้ไปถึงพ่อค้า แม่ค้า ผู้ให้บริการรายย่อย ต้องการส่งเสริมการหมุนเวียนของเงินในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากเหมือนโครงการคนละครึ่ง และในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ จะสามารถใช้ความสำเร็จนี้ ทำให้เงินงบประมาณไปหมุนแล้วหมุนอีก แล้วจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้เรื่อยๆ ท้ายที่สุด หน่วยงานของภาครัฐก็พร้อมจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิที่เข้าไม่ถึงสมารท์โฟนอย่างเต็มที่ และจะให้ทุกคนได้รับสิทธินั้นอย่างถ้วนหน้า"