posttoday

ไม่ปลื้มแจกเงิน3,500บาท พ่นพิษรัฐบาลเสียทั้งเงินเสียทั้งแต้ม

20 มกราคม 2564

โครงการเราชนะแจกเงิน 3,500 บาท กำลังกลายเป็นโครงการรัฐบาลแพ้ เพราะประชาชนผิดหวังไม่ได้เป็นเงินสด

ถือว่าโครงการเราชนะขึ้นต้นมาดี แต่พอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวรายละเอียดออกมา ต่างทำให้คนผิดหวังไปตามๆ กันจำนวนมาก เพราะโครงการนี้คาดว่าจะมีผู้ได้เงิน 31.1 ล้านคน ใช้งบประมาณจากเงินกู้ 2.1 แสนล้านบาท

ประเด็นสำคัญประชาชนคาดหวังว่า โครงการเราชนะที่จะแจกเงิน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) รวมกันเป็น 7,000 บาท จะได้เป็นเงินสด แต่รัฐบาลกลับให้เป็นวงเงินใส่ให้ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อไปซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น

เมื่อกดเป็นเงินสดไม่ได้อย่างที่ประชาชนคาดหวัง จากเสียงเชียร์รัฐบาล กลับเป็นเสียงตำหนิรัฐบาลโหมเป็นพายุทันที ในโลกโซเชียลวิจารณ์โครงการเราชนะ เสียจนไม่เหลือชิ้นดี ลามไปจนถึงต่อว่าผู้นำรัฐบาลว่าคิดมาตรการอย่างนี้ออกมาได้อย่างไร

นอกจากกดเป็นเงินสดไม่ได้แล้ว วงเงินที่ได้ยังถูกสับแยกย่อยเป็นรายสัปดาห์ จนมีรายละเอียดวุ่นวายซับซ้อน แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่กล้าอธิบายรายละเอียดมาตรการ ต้องโยนให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้ชี้แจง

โดยผู้ได้เงินจากโครงการเราชนะประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน จะได้เงินไม่เต็ม 3,500 บาทจริง เพราะรัฐบาลให้เติมจากที่ได้ช่วยเหลือเดิมขณะนี้เดือนละ 700-800 บาทต่อเดือน ทำให้กลุ่มนี้จะได้รับความช่วยจริงเดือนละ 2,700-2,800 บาทต่อเดือน รวม 2 เดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,400-5,600 บาท และเมื่อต้องถอนจ่ายวงเงินเป็นรายสัปดาห์จะอยู่ที่ 675-700 บาท

2. กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ จนครบ 7,000 บาท

3. กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ต้องลงทะเบียน www.เราชนะ.com หากผ่านจะได้รับเงินเหมือนกลุ่มที่ 2

ทั้งนี้ในกลุ่มที่ 2 และ 3 ไม่ได้วงเงินอัตโนมัติเหมือนกลุ่มที่ 1 ต้องผ่านการคัดกรอง 7 ด่านหินสำคัญ ได้แก่

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปี

2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ

4. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง

5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญจากส่วนราชการ

6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท

7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขที่กำหนดขึ้นกลายเป็นดาบสองคม มีทั้งดีทั้งเสีย นักวิชาการมองว่า เงื่อนไขที่ตั้งมาอาจทำให้คนที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือไม่ได้รับการช่วยเหลือ แต่คนที่ไม่ควรได้รับเงินช่วยเหลือกลับได้เงินช่วยเหลือ

เช่น คนที่อยู่ในมาตรา 33 จำนวนมากถูกลดเงินเดือน ลดค่าจ้าง รายได้ลดลง มีปัญหาค่าครองชีพ แต่เข้าโครงการเราชนะไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของคนที่มีอายุมาก แต่ต้องตกงานจากพิษโควิด แต่มีเงินออมมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ

หรือกรณีของผู้ที่อยู่นอกระบบภาษี แต่มีรายได้สูง ที่ไม่ควรได้สิทธิจากมาตรการเราชนะ แต่กลับได้ เพราะระบบตรวจแล้วไม่เจออยู่ในระบบภาษี ก็เท่ากับว่าตรวจไม่ได้ว่ามีเงินได้พึงประเมิน 3 แสนบาทต่อปีหรือไม่ เป็นต้น

ยังไม่รวมกับคนที่ได้สิทธิจำนวนมากเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นคนจน ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่จะรองรับการใช้วงเงินจากโครงการเราชนะ ซึ่งรัฐบาลก็ได้แต่แก้ต่างว่า ตอนนี้ราคาโทรศัพท์ถูกเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจะหาทางออกตรงนี้ให้คนจนอย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่พอใจของประชาชนที่คาดหวังจากโครงการแจกเงิน 3,500 บาท จึงมีมาก เพราะผิดหวังซ้ำซ้อน ไม่ได้เงินสด ได้เป็นวงเงินเบี้ยหัวแตก และพลาดสิทธิเพราะเงื่อนไขที่ถูกตีเส้นไว้

ก่อนหน้านี้ กระทรางการคลังเสนอให้โครงการเราชนะแจกเป็นเงินสด 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้จ่ายตามความจำเป็น เพราะมีบางคนต้องการนำไปใช้หนี้ จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ให้ค่าขนมลูก ซึ่งเป็นการช่วยตรงช่วยเร็วแล้ว ยังทำให้เงินหมุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทีมของนายสุพัฒนพงษ์ ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีการประเมินกันว่า เพราะไม่ต้องการให้โครงเราชนะ ไปเหมือนโครงการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อปี 2563 ที่เกิดการระบาดโควิด-19 รอบแรก

โดยทีมของนายสุพัฒนพงษ์ พยายามแต่งตัวโครงการเราชนะใหม่ โดยแต่งหน้าทาปากให้คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลได้รับคำชื่นชมจากทั้งคนได้สิทธิ 15 ล้านคน และร้านขนาดเล็กหาบเร่แผงลอยอีกกว่า 1 ล้านร้านค้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการเราชนะคลอดออกมา ประชาชนกลับไม่ปลื้ม เพราะต้องการเงินสดมากกว่าวงเงินสินค้า ทัวร์เลยลงรัฐบาลบิ๊กตู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเต็มๆ กลายเป็นฝันร้ายกลับมาเหมือนการแจกเงิน 5 พันบาท 3 เดือน ใช้เงินไปกว่า 3 แสนล้านบาท กลับถูกประชาชนตำหนิทั่วประเทศว่าช่วยไม่ทั่วถึง มาถึงเราชนะใช้เงินอีก 2 แสนล้านบาท ก็วิ่งหนีไม่พ้นที่จะถูกบ่นยับเหมือนรอบที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่พอใจรัฐบาลที่มีความคิดว่า หากให้เป็นเงินสดก้อนเดียวเดือนละ 3,500 บาท ประชาชนที่ได้เงินจะใช้เงินไปซื้อเหล้า ซื้อบุหรี่ ซื้อหวย ซึ่งเป็นการมองประชาชนในแง่ร้าย ทั้งๆ ที่วิกฤตการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่ทำให้คนเดือดร้อนทั้งประเทศตอนนี้ ก็มาจากรัฐบาลการ์ดตก

โครงการเราชนะ ยังเป็นประเด็นการเมือง ทำให้รัฐบาลถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามอย่างหนัก ว่า รัฐบาลเหมือนอยู่คนละโลกกับความจริง ประชาชนต้องการเยียวยาเป็นเงินสด แต่รัฐบาลกลับให้เป็นวงเงินที่ถูกสอยเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนการจ่ายเงินดังกล่าว ให้เป็นเงินสดตามที่ประชาชนต้องการ

ข้อกล่าวหาต่างๆ ถือว่ารัฐบาลไม่ฟังไม่ได้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นเสียงสะท้อนที่มีเหตุผล แม้ว่าจะไม่ถูกไปเสียหมด

ที่ผ่านมารัฐบาลทำโครงการคนละครึ่ง ให้วงเงินคนละ 3,500 บาท จำนวน 15 ล้านคน ไปซื้อสินค้าของกินของใช้ในร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งเป็นวงเงินที่รัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่ง ผู้ได้สิทธิต้องจ่ายครึ่งหนึ่ง ได้รับคำชมล้นหลาม ทั้งๆ ที่ประชาชนต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเอง

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องไม่อยากเงินสดให้ประชาชน ก็ควรขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพราะจากการลงทะเบียนรับสิทธิรอบเก็บตกเฟส 1 และ 2 จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ วันที่ 20 ม.ค. 2564 ใช้เวลา 9 นาที ก็ลงทะเบียนเต็มแล้ว โดยผู้ที่เข้าระบบมาแล้วลงทะเบียนไม่ทันมีถึง 2 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องไปออกโครงการเราชนะให้มาซ้ำซ้อนกับโครงการคนละครึ่ง

ต้องถือว่า รัฐบาลอาจออกแบบโครงการเราชนะพลาดไป ประชาชนหวังได้เงินสดไปใช้ผสมกับวงเงินได้จากโครงการคนละครึ่ง แต่เมื่อไม่ได้เหมือนที่คาดและวางแผนไว้ ทำให้โครงการของรัฐบาลจะพังราบไปกันหมด

ทั้งโครงการคนละครึ่ง ที่ควรขยายจำนวนคน เพราะมีคนต้องการอีกจำนวนมาก อย่างน้อยก็ 2 ล้านคน ที่อยากได้แต่ไม่ได้ จนฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐบาลว่า ทำโครงการคนละครึ่งเหมือนมาตรการโปรยทาน คนที่เดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้แก้เศรษฐกิจไม่ได้

ส่วนโครงการเราชนะ ไม่ต้องพูดถึงหากรัฐบาลไม่เปลี่ยนใจให้เป็นเงินสด เพราะกลัวเสียหน้า ก็มีแต่เสียคะแนนนิยมที่เหลืออยู่น้อยนิดให้เหลือน้อยไปอีก

โครงการเราชนะ จึงกลายเป็นโครงการที่ทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้ เสียทั้งเงินเสียทั้งคะแนนนิยม ทำให้ประชาชนไม่ปลื้มรัฐบาลแก้เศรษฐกิจช้า ไม่ตรงจุด ไม่ถูกทาง ไม่เชื่อมั่นฝีมือรัฐบาลในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ที่รัฐบาลเป็นต้นเหตุ