posttoday

"บิ๊กตู่" หมดเงินสู้โควิด สะเทือนมาตรการเยียวยาอ่อนแรง

18 มกราคม 2564

มาตรการเยียวยาโควิดของรัฐบาลบิ๊กตู่มาช้าแถมยังมาน้อย เพราะกระสุนหมดเงินไม่มี หนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่การระบาดโควิด-19 รอบสองในไทย ยังรุนแรงหยุดไม่อยู่ เพราะตัวเลขการติดเชื้อรายวัน ยังอยู่ระดับสูง 200 กว่าคนต่อวัน 300 กว่าคนต่อวัน โดยตัวเลขรอบสองแซงหน้ารอบแรกไปนานแล้ว โดยยอดรวมผู้ติดเชื้อล่าสุดกำลังทะลุ 13,000 คน

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการเยียวยาชุดใหญ่ไฟกระพริบ แต่เมื่อแกะกล่องลงไปดูในรายละเอียดพบว่า แจกเยอะแต่แจกน้อยกว่ารอบแรกที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอ้างว่า การระบาดโควิด-19 รอบสอง รัฐบาลไม่ได้ล็อกดาวน์ประเทศเหมือนการระบาดรอบแรก

ที่สำคัญ นอกจากออกมาตรการเยียวยาล่าช้า แจกน้อยแล้วยังไม่ได้ทันทีอีก เหมือนของขวัญที่ห่อยังไม่เสร็จ ทำให้คนที่รออยู่ยังต้องรอต่อไป บนความไม่แน่นอนของมาตรการที่เปลี่ยนไปมา แต่การระบาดของโควิด-19 รอบสองไม่ได้ลดความรุนแรงลง

ที่เห็นได้ชัดว่า มาตรการแจกเงินเยียวยา 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมแล้ว 7,000 บาท ให้ประชาชนอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เทียบกับการแจกเงินเยียวยารอบแรก 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือ คนละ 15,000 บาท เห็นว่าน้อยกว่ากันเป็นครึ่ง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเงินกู้จากการออก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 รอบแรกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. ใช้ด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท มีการอนุมัติแล้ว 13,881 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,040 ล้านบาท

2. ใช้ช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 348,553 ล้านบาท เบิกจ่าย 322,958 ล้านบาท ส่วนนี้มีความสำคัญเพระจะเห็นว่า รัฐบาลเหลือเงินกู้เพื่อจ่ายเยียวยาอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท เท่านั้น

3. ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 139,410 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 37,436 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ามีวงเงินเหลืออีกประมาณ 260,000 ล้านบาท ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าให้โยกเงินส่วนนี้ไปใช้ในส่วนที่ 2 เพื่อการเยียวยาได้

สำหรับมาตรการแจกเงิน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ที่จะเสนอ ต้องใช้เงินกู้ดำเนินการ 210,000 แสนล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่า เงินกู้ในส่วนของการเยียวยาที่เหลืออยู่ 150,000 แสนล้านบาท ไม่พอ ต้องโยกเงินในส่วนของการฟื้นฟูมาเติมไว้อีก 60,000 ล้านบาท ทำให้เงินเหลือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเหลือประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือ น้อยกว่านั้น เพราะมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลออกมาทั้งการลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า ส่วนหนึ่งก็จะขอมาใช้จากเงินกู้

จากตัวเลขเห็นชัดเจนว่า มาตรการเยียวยารอบใหม่มาช้ามาน้อยกว่ารอบแรก เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน หากรัฐบาลเยียวยาเท่ารอบแรก 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ใช่ 2 เดือน เช่นนี้ เงินกู้ที่จะนำมาใช้จะไม่พอทันที ทำให้รัฐบาลหนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลบิ๊กตู่ถูกโจมตีมาตลอดว่า ดีแต่กู้ ทำให้รัฐบาลเลี่ยงการกู้เงินอย่างถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่า รัฐบาลแจกเงินช้าแจกเงินน้อย ทำให้ไม่พอต่อการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่ารอบแรก แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ล็อกดาวน์ประเทศก็ตาม

ในปลายเดือน ม.ค. นี้ รัฐบาลบิ๊กตู่จะประเมินการระบาดโควิดรอบสองดีขึ้นหรือแย่ลง จากตัวเลขที่เห็นวันนี้ก็ต้องบอกว่าไม่ดีขึ้น และส่งผลกระทบเศรษฐกิจรุนแรงกว่ารอบแรก เพราะผู้ประกอบการที่รอดจากรอบแรกมาได้ พอมาถึงรอบสองไปต่อไม่ไหว มีการปิดกิจการและเลิกจ้างงาน ทำให้มีคนตกงานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่หนีไม่พ้น ต้องเยียวยาประชาชนเพิ่ม การแจกเยียวยา 2 เดือน ในเดือน ก.พ.-มี.ค. ถือว่าไม่พออย่างแน่นอน ต้องมีการเยียวยาเพิ่มอีกหลายเดือนอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากยังพบผู้ติดเชื่อเพิ่มขึ้น 3 วัน กว่าพันคนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การเยียวยาล่าช้า ทำให้รัฐบาลบิ๊กตู่ถูกกดดันและถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่าเอาโควิดรอบสองไม่อยู่ เอาวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ไม่รอด การระบาดเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2563 กว่าจะออกมาตรการได้กลางเดือน ม.ค. 2564 กว่าจะได้รับการเยียวยาจริงเดือน ก.พ. 2564 ล่าช้ากว่าผลกระทบที่เกิดครึ่งเดือนครึ่ง จนผู้ประกอบการจำนวนมากรอไม่ไหวปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานแล้วไปจำนวนมาก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า มาตรการแจกเงิน 3,500 บาท 2 เดือน พร้อมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” อีก 1 ล้านสิทธิ และ ลดค่าน้ำค่าไฟอีก 2 เดือนนั้น ไม่เพียงพอ บรรเทาได้ช่วงสั้นๆ เท่านั้น

นายอนุสรณ์ เสนอว่า รัฐบาลควรก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานขนาดใหญ่ในประเทศ งบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและการว่างงานยืดเยื้อ จึงควรกู้เพื่อเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 7 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มงบประมาณใช้แก้ปัญหาโควิด

ตอนนี้ บิ๊กตู่ถึงทางตันแก้โควิด เพราะเงินหมดหน้าตัก หนีไม่พ้นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินรอบใหม่อีกก้อนโต เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนและนักลงทุนธุรกิจ ว่า จะเอาโควิดรอบสอง รอบสาม หรือ รอบต่อๆ ไป ได้ทันท่วงทีไม่ล่าช้าเหมือนรอบนี้

จะเห็นว่า รัฐบาลรู้ นักวิชาการรู้ ประชาชนรู้ นักธุรกิจรู้ ว่า รัฐบาลมีเงินหน้าตักสู้กับโควิด-19 รอบใหม่ไม่พอ จึงออกมาตรการเยียวแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำได้จำกัดทำให้เศรษฐกิจไทยฟุบลงและดึงขึ้นได้ยาก หากรัฐบาลบิ๊กตู่แก้ปัญหาแบบกลัวต้องกู้เงินเพิ่มอยู่เช่นนี้

การระบาดของโควิดรอบสองส่งผลกระทบกับประชาชน ธุรกิจ และเศรษฐกิจรุนแรงกว่ารอบแรก แต่รัฐบาลกลับเป็นหมอให้ยารักษาเบาและน้อยกว่ารอบแรก ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่โรคจะหาย เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลบิ๊กตู่จะนำพาคนไทยฝ่ามรสุมวิกฤตโควิดรอบใหม่ไปรอดได้ยากเสียเหลือเกิน