posttoday

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

12 มกราคม 2564

คลัง-ธปท. ยำใหญ่มาตรการด้านการเงินชุดใหญ่ เพื่อดูแลและเยียวยาลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิดรอบใหม่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในการนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท และ 3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้ 1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 และ 3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน

1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)

สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ

ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค.

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น

2.2 ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan

2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสมทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือควรรีบติดต่อศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center) ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase

ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (12 มกราคม 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ระบาดรอบใหม่ ของสถาบันการเงินสมาชิกสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ(SFIs) ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยในส่วนของ ธอส. คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” ด้วย 4 มาตรการลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) นานสูงสุด 6 เดือน ครอบคลุมทั้งลูกค้าที่เคยหรืออยู่ระหว่างใช้ “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” และ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” รวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการฯ ทั้งลูกค้ารายย่อยและกลุ่ม SMEs ที่มีสถานะปกติ หรือสถานะ NPL ประกอบด้วย

มาตรการที่ 9 สำหรับลูกค้าที่เคยเข้าร่วมหรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส.ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการจะต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เข้าร่วมมาตรการระยะแรกผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 - 29 มกราคม 2564

มาตรการที่ 10 สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 11 สำหรับลูกค้าที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือฯ ของ ธอส. ลูกค้าที่มีสิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอใช้มาตรการต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสถานะบัญชีปกติ ไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้ ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลา 6 เดือน(กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2564) ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการระยะแรก ผ่าน Application : GHB ALL ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 26 กุมภาพันธ์ 2564

มาตรการที่ 12 สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สินเชื่อประเภทแฟลต แบ่งเป็น 1.ได้ลดเงินงวดผ่อนชำระ(ตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่เกินมิถุนายน 2564 หรือ 2.พักชำระหนี้ถึงมิถุนายน 2564 ในกรณีที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ ยื่นคำขอเข้ามาตรการระยะแรกได้ที่สาขาทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ 9-11 ระยะแรก ต้องดาวน์โหลดหลักฐานยืนยันว่ามีผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนดอกเบี้ยประจำงวดที่ตัดชำระไม่หมดในขณะที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าทยอยผ่อนชำระได้จนถึง ก่อนวันที่ลูกค้าจะครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้ หรือก่อนปิดบัญชีเงินกู้ สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ในปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ธนาคารกำหนด และยังมีปัญหาด้านรายได้ทำให้ ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ธนาคารพร้อมพิจารณาขยายความช่วยเหลือในรูปแบบการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เป็นรายกรณีต่อไป ส่วนกรณีที่หน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารได้รับผลกระทบจากโควิด-19ให้หน่วยงานมีหนังสือแจ้งมายังธนาคารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กู้เงินกับธนาคารต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ธนาคารออกมาตรการ “พักหนี้อุ่นใจ เติมเงินใหม่ไปต่อ” ประกอบด้วย 1. มาตรการพักชำระหนี้เงินต้น ลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน ไม่เกิน 31 ธันวาคม 2564 โดยพิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา SME D Bank ได้ส่งเจ้าหน้าที่สาขา SME D Bank ติดต่อสอบถาม และตรวจเยี่ยมกิจการลูกค้าทั่วประเทศ เพื่อสำรวจผลกระทบ และแนะนำเข้าสู่มาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ สอบถาม และสำรวจผลกระทบ เพื่อกำหนดแนวทางช่วยเหลือแก่ลูกค้าทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อจะช่วยเหลือลูกค้าได้รวดเร็วทันท่วงที

2. มาตรการเติมเงินใหม่ มุ่งเสริมสภาพคล่อง ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษ เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ไฮไลท์สำคัญ คือ “สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash” ครอบคลุมทุกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปีใน 2 ปีแรก ระยะผ่อนชำระนานสูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้นำไปใช้เสริมสภาพคล่อง และ/หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อต่างๆ เช่น “สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” อัตราดอกเบี้ย นิติบุคคล 2.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา 4.875%ต่อปี นาน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี “สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy” อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.25% วงเงินกู้ บุคคลธรรมดา สูงสุด 5 ล้านบาท นิติบุคคล สูงสุด 15 ล้านบาท และ “สินเชื่อ SMART SMEs” เปิดโอกาสรับผู้ประกอบการ Refinance จากสถาบันการเงินเดิม ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ คิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก วงเงินกู้สูงสุดถึง 15 ล้านบาท เป็นต้น

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

ลูกค้า SME D Bank และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป สามารถแจ้งความประสงค์เข้ารับมาตรการได้ ณ สาขาของ SME D Bank ทั่วประเทศ รวมถึง เพื่อความสะดวก และลดความเสี่ยงจากการเดินทาง แจ้งผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ผ่านช่องทาง เช่น สแกน QR Code ในใบแจ้งหนี้ , แอปพลิเคชัน “SME D Bank” ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android , LINE Official Account: SME Development Bank และเว็บไซต์ www.smebank.co.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357

นอกจากนั้น SME D Bank ร่วมกับสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปล่อยกู้ผ่านสินเชื่อ “SMEs One” อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี วงเงินยื่นกู้ บุคคลธรรมดา สูงสุด 5 แสนบาท นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สูงสุด 3 ล้านบาท เปิดแจ้งความประสงค์ผ่าน 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ 1.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 4.สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 5.สภาเกษตรกรแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน SME D Bank ช่วยผู้ประกอบการเติบโตยั่งยืน สามารถปรับตัวสู่ยุค New Normal โดยเปิดบริการต่าง ๆ ให้ใช้งานฟรี เช่น เปิดช่องทางขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ฝากร้านฟรี SME D Bank” และส่งเสริมลูกค้านำสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee , LAZADA , Thailandpostmart , Alibaba , LINE , JD Central เป็นต้น ก่อนหน้านี้

เปิดดูไส้ในรวมมาตรการ การเงินกู้วิกฤตโควิดรอบใหม่

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อภาคการส่งออกของไทย EXIM BANK ได้ออก “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้า ทั้งที่เป็นผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออกและผู้ส่งออก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือพื้นที่สีแดง (Red zone) สีส้ม (Orange zone) และสีเหลือง (Yellow zone) ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

• พักชำระหนี้เงินต้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน

• พิเศษ! พักชำระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการอาหารแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้

ภายใต้ “มาตรการพักชำระหนี้ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง” ลูกค้า EXIM BANK สามารถขอพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยแจ้งความประสงค์ผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร www.exim.go.th หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารที่ดูแลลูกค้า ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2564 โดยธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 3 วันทำการ

EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือลูกค้าโดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนไปแล้วกว่า 1,400 ราย เป็นจำนวนเงิน 36,853 ล้านบาท และหลังจากนั้น มีผู้ประกอบการติดต่อขอรับมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นจำนวนเงิน 4,050 ล้านบาท ในครั้งนี้ EXIM BANK พร้อมเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

“มาตรการช่วยเหลือของ EXIM BANK ในครั้งนี้เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบให้แก่ลูกค้าที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบหรือขาดแคลนแรงงานสำหรับผลิตสินค้า เนื่องจากการกักตัวหรือติดเชื้อ เป็นไปตามมาตรการภาครัฐเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการขนส่งและส่งออกสินค้า ตลอดจนปัญหาผู้ซื้อปฏิเสธสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหาร อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้ของไทย เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อรอโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าส่งออกของไทย ภายหลังการพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้าไปมาก” นายพิศิษฐ์กล่าว