posttoday

1 ปีกับโควิด เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วหรือยัง?

28 ตุลาคม 2563

บทความโดย...ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยโดยนักวิเคราะห์และหน่วยงานส่วนใหญ่ ต่างให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสขยายตัวและได้ผ่านจุดต่ำสุดจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เราจะยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะคำถามสำคัญคือ แม้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหนกันแน่ ?

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงการฟื้นตัวของประเทศไทย ไว้อย่างน่าสนใจว่า “วิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ ความลึก ไม่สำคัญเท่ากับความยาว” ความเสียหายทางเศรษฐกิจยังคงส่งผลต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นความน่ากลัวที่แท้จริงของผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19

ประเทศที่น่าจับตามองคือ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งนโยบายและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ ส่งผลกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมผ่านการค้าขายระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว แต่กลับมาชะลอตัวลงอีกครั้ง ส่วนอัตราการจ้างงาน ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ส่งผลให้กำลังซื้อหดหาย เกิดการลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง และยังมีปัจจัยสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีผลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน

ด้านประเทศจีน ถือเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีที่สุด เห็นได้จากบริษัทเอกชนต่างๆ สามารถทำกำไรเริ่มมีการลงทุน ขยายการผลิต และมีการจ้างงานเพิ่มบ้างแล้ว ทำให้ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางเศรษฐกิจลง แต่จีนยังคงเผชิญความเสี่ยง 2 เรื่อง คือ

1. ภาคการเงิน ที่ระบบธนาคารมีกำไรลดลง

2. ความเสี่ยงจากการค้าระหว่างประเทศ ในกรณี หากเกิดเหตุการณ์นานาชาติคว่ำบาตรไม่นำเข้าสินค้าจากจีน

ในส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ส่งผลต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานโดยตรง ทำให้ความต้องการอุปโภคบริโภคลดลง

การลำดับความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มธุรกิจจะแตกต่างกัน โดยเรียงลำดับจากเร็วไปช้า ดังนี้

1. กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าจำเป็น เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารการกิน กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

2. กลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น สินค้าคงทนต่างๆ

3. กลุ่มสินค้าต้นน้ำ เช่น ภาคการเกษตร

4. กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องวิถี New Normal เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่น่าจะมีการฟื้นตัวช้า และเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด

ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนี้เอง อาจเกิดความไม่แน่นอนทั้งการทำธุรกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน และแนวโน้มของค่าเงินบาท ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้

ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการในปัจจุบันนี้ คือ การขาดสภาพคล่อง จากการสำรวจบริษัทในประเทศไทยกว่า 4.3 แสนบริษัท พบว่ามีจำนวนบริษัทถึง 1 ใน 3 หรือ ราว 1.4 แสนราย กำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และในจำนวนนี้กว่า 95% เป็นบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้ต้องปิดตัวลงจะกระทบกับการจ้างแรงงานกว่า 12 ล้านราย

ดร.สมประวิณ ได้สรุปภาพรวมและมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไว้ 4 แนวทางดังนี้

1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

2. การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

3. การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการปรับลดระเบียบข้อบังคับบางอย่างให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

4. การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำเอาไปลงทุนทางการเงินอีกต่อ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ผู้ประกอบการในวันที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ต้องมีความยืดหยุ่น คิดเผื่ออนาคตไว้ล่วงหน้าเสมอ เตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยน Business Model เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเราทุกคนในวันนี้ ถ้าหากเลือกวิธีการที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้ธุรกิจของเรา และเศรษฐกิจไทยอยู่รอดต่อไปได้อย่างแน่นอน