posttoday

เศรษฐกิจยังติดลบ8% มองกระตุ้นขาดตอนแผ่วลง

16 ตุลาคม 2563

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองเศรษฐกิจยังติดมากลบ 8% เหตุมาตรการกระตุ้นขาดตอนแผ่วลง

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 อยู่ในจุดตั้งหลัก เพราะผ่านจุดหนักที่สุดมาแล้วไตรมาส 2 ที่ขยายตัวติดลบ 12.2% ล่าสุดธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะติดลบ 8% จากเดิมที่คาดไว้ลบ 5% โดยปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.8% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ถึงจะกลับมาขยายตัว 3-4% เหมือนก่อนที่มีการระบาดของโควิด-19

สาเหตุที่ธนาคารยังให้เศรษฐกิจปีนี้ติดลบมาก เนื่องจากเศรษฐไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกที่ยังมีปัญหาไม่ฟื้นตัว การส่งออกของไทยคาดว่าจะติดลบ 8% นอกจากนี้ มาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ยังต้องดูว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หรือไม่

ขณะเดียวกันประเทศไทย ยังไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้และปีหน้ายังไม่ฟื้น ธนาคารประเมินว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเที่ยวปีละ 40 ล้านคน เหมือนเดิมต้องใช้เวลา 3-5 ปี

ดร.ทิม กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีช่วงเว้นว่างในไตรมาส 3 ที่ไม่มีทีมเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาล มีการลาออกของ รมว.คลัง 2 คน คือ นายอุตตม สาวนายน และ นายปรีดี ดาวฉาย ตอนนี้รัฐบาลมีทีมเศรษฐกิจใหม่ มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ มาเป็น รมว.คลังคนใหม่ ต้องรอดูว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้หรือไม่

"ผมคิดว่าตอนนี้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังมองภาพเศรษฐกิจปีหน้าไม่ชัด เพราะยังเหลืออีก 3 เดือน ถึงจะเริ่มปี 2564 และต้องดูอีก 12 เดือนของปี 2564 ซึ่งมีความไม่แน่นอนทั้งเศษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อไร ยังมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ทำให้ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวต่ำที่ 2% ไว้ก่อน" ดร.ทิม กล่าว

ดร.ทิม กล่าวว่า รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนในไตรมาสที่สอง มีการแจกเงินให้ผู้อาชีพอิสระ และเกษตรกร เป็นมาตรการใหญ่มีมูลค่าเงินสูงถึง 4 แสนล้านบาท แต่ในไตรมาสสาม มีการเปลี่ยนผ่านของ รมว.คลัง ทำให้ต้องเวลารัฐบาลว่าจะดำเนินการบริหารเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายมาชดเชย 3 เดือน ที่เว้นว่างไปได้หรือไม่

สำหรับปัญหาการเมือง ยังเป็นเรื่องที่ธนาคารตามดู วันนี้ยังไม่เป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทย เท่ากับปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งยังไม่มีความเข้มข้นเท่ากับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนของไทยกลับมาสูงกว่า 80% ของจีดีพี เป็นอุปสรรคของมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีมาตรการช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขณะที่หนี้ของประเทศ ในปีนี้มีการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพราะนโยบายการเงินมีข้อจำกัด ธปท. ลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.50% ไม่สามารถลงได้อีก ดังนั้นการใช้นโยบายการคลังมากๆ ในอีก 1-2 ปี จะทำได้น้อยลง เพราะหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% ของจีดีพี มาอยู่ที่ 50% ของจีดีพี การใช้นโยบายกานรคลังต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า

"วันนี้สถานการเศรษฐกิจ ยังต้องเฝ้าตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยในประเทศยังไม่แข็งแรง ทั้งการบริโภคต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง มีการใช้มาตรการทางการคลังมากแล้ว หนี้ประเทศเริ่มสูง และประเทศยังไม่พร้อมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา" ดร. ทิมกล่าว