posttoday

อดีตรมว.คลังชี้ "ช้อปดีมีคืน" ใช้เงินกู้ไม่คุ้มค่า-รากหญ้าไม่ได้ประโยชน์

13 ตุลาคม 2563

"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" มองโครงการช้อปดีมีคืนเป็นการ ถลุงเงินคลัง ใช้เงินกู้ไม่คุ้มค่า สร้างภาระหนี้แบบสุรุ่ยสุร่าย คนรากหญ้าไม่ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 63 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นถึงโครงการ "ช้อปดีมีคืน"ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาดังนี้

“มาตรการถลุงเงินด้านการคลัง”

พล.อ.ประยุทธ์พา รมว.คลังใหม่พร้อมด้วยรองนายกฯที่โยกเข้ามาหมาดๆ จากกลุ่มบริษัทผูกขาดพลังงาน พยายามอธิบายว่ามาตรการด้านการคลังเป็นเรื่องที่ดี เพราะกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยคนมีรายได้น้อย และทำให้คนกล้าใช้เงิน

ขอรักษาความสงบ-อย่าทำลายศักยภาพ!

ผมขอท้วงติงว่าผู้ที่ทำลายศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ ก็คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นี่แหละครับ ไม่ใช่ใครอื่น

เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังรีบออกมาช่วยอธิบายว่า “ช้อปดีมีคืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก และส่งเสริมการอ่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

และเสริมว่า “ช้อปดีมีคืน” เน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่อยู่ในระบบภาษี ไม่มีข้อกำหนดใดๆ ในเรื่องขนาด ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทุกรายล้วนแล้วอยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งสิ้น

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินของประเทศกระตุ้นการอุปโภคบริโภคหลายโครงการ ซึ่งถึงแม้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มตัวเลข จีดีพี แต่เป็นการใช้เงินของประชาชนที่ไม่ได้คิดให้ลึกซึ้ง เพราะเน้นโครงการที่ทำง่าย ฉาบฉวย และสร้างผลแบบไฟใหม้ฟาง แต่ไม่ได้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือช่วยให้ประชาชนยืนบนขาของตัวเอง

ลำพังทำโครงการแบบนี้ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจปกติ ก็อาจจะไม่ถูกวิจารณ์มากนัก

แต่ในสภาวะวิกฤตโควิดซึ่งยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ถูกกระทบหนัก หลายกิจการต้องลดพนักงาน รัฐบาลมีโจทย์ที่จะต้องใช้จ่ายเงินอีกมากมาย ในขณะที่รายได้ลดลง ภาษีเก็บได้น้อยลง ถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาลดภาษีให้แก่ประชาชน มีแต่จำเป็นต้องใช้เงินกู้

ในวิกฤตเช่นนี้ กลุ่มที่ประสบปัญหาหนักและอาจจะช่วยตัวเองไม่ได้ คือธุรกิจที่โดนกระทบทางตรง โควิดทำให้ลูกค้าหาย รายได้หด หรือธุรกิจขนาดย่อยที่ต้องปิดร้าน และชนชั้นล่างที่ต้องตกงาน รัฐจึงต้องคิดหาทางช่วยให้กลุ่มเหล่านี้อยู่รอดได้ ช่วยเขาหาทางปรับตัว

ท่ามกลางเสียงเรียกร้อง ให้รัฐบาลใช้เงินของส่วนรวมเพื่อแก้ปัญหาของกลุ่มต่างๆ รัฐบาลจะต้องถือว่าเงินกู้เป็นทรัพยากรที่มีค่า และวัตถุประสงค์การใช้เงิน นอกจากต้องก่อประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังต้องเลือกวัตถุประสงค์ที่เน้นแก้ปัญหาให้ตรงกลุ่มที่เดือดร้อนอีกด้วย

ถามว่า ชนกลุ่มไหนที่จะสามารถใช้ประโยชน์คืนภาษี “ช้อปดีมีคืน”?

แน่นอนว่า ต้องเป็นกลุ่มชนชั้นกลางและชั้นสูงที่ในวิกฤตโควิดก็ยังมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนชนชั้นล่างที่ตกงานและไม่มีรายได้ หรือถึงแม้มีรายได้แต่ถ้าหากต่ำกว่าระดับที่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีเพียงอัตราต่ำ ย่อมไม่สามารถขอคืนภาษีอะไรได้

มาตรการนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์เงินเดือนที่มีงานมั่นคง เช่น ในบริษัทใหญ่ที่ธุรกิจอยู่รอด ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี เป็นต้น แต่ชนชั้นล่างที่เดือดร้อนไม่สามารถได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ตามความเข้าใจของผม ผู้ที่ช้อปนั้น ไม่บังคับจะต้องซื้อสินค้าผลิตในไทยด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าจะซื้อสินค้าแฟชั่น ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ย่อมทำได้ ดังนั้น กรณีเช่นนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์จึงเป็นชนชั้นสูงและชนชั้นกลางตลอดถึงดีพารต์เมนท์สโตรเป็นสำคัญ แทนที่จะสงวนเงินกู้ ที่คนไทยทั้งชาติรวมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ต้องแบกภาระชำระหนี้คืน เอาไว้ช่วยเหลือชนชั้นล่าง ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายหลัก

ถึงแม้ในแง่การฟื้นเศรษฐกิจในวิกฤตโควิด หลายรัฐบาลต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำการใช้จ่ายแทนธุรกิจเอกชนไปพลางก่อน ดังเห็นได้ว่าหลายรัฐบาลในโลกได้ออกโครงการแจกเงินเพื่อเยียวยาผู้ยากไร้ แต่ต้องไม่ลืมว่า คนไทยไม่ได้ร่ำรวย และภาระเงินกู้จะตกเป็นภาระแก่คนไทยยาวนานไปอีกหลายปี

ดังนั้น การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กู้เงิน เอาไปแจกคนที่ฐานะดี ที่ไม่ถึงขั้นเดือดร้อน จึงเป็นการใช้เงินกู้ที่ไม่คุ้มค่า เป็นการกู้เงินมาแจกคนที่ไม่จำเป็น การสร้างภาระหนี้แบบสุรุ่ยสุร่ายอย่างนี้ จึงเป็นการทำลายศักยภาพของเศรษฐกิจ