posttoday

"ช้อปดีมีคืน" อุ้มนายทุนตกขบวนแจกเงิน

12 ตุลาคม 2563

มาตรการ ช้อปดีมีคืน ให้นำเงินซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือแจกเงินนายทุนคนรวยกันแน่

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืนให้นำรายจ่ายซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท เริ่มมีผล 23 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 โดยนำไปยื่นหักลดหย่อนภาษี 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2564 ทันที

มาตรการ ช้อปดีมีคืน แปลงร่างมาจากมาตรการช้อปช่วยชาติ ที่เดิมเคยให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท แต่มาตรการช้อปดีมีคืนให้เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า เขาขอมาให้หักลดหย่อน 5 หมื่นบาท แต่รัฐให้ไม่ไหว ให้ได้แค่นี้

กรมสรรพากรประเมินว่า มาตรการช้อปดีมีคืนจะทำให้สูญเงินภาษีถึง 1.9 หมื่นล้านบาท กระทบกับการเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2564 ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าจำนวนมากอยู่แล้ว แต่รัฐบาลมองว่ามาตรการนี้จะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 1.1 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีประเทศปีนี้โตเพิ่ม 0.3% ช่วยให้การขยายตัวที่คาดว่าจะติดลบ 8-10% กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย

มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นเหมือนมาตรการรถด่วน เพิ่มเติมเข้ามาอย่างกะทันหัน จากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเห็นชอบมาตรการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ หรือ บัตรคนจนเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2563 ซึ่งมีการจ่ายเงินของเดือน ต.ค. ไปแล้ว โดยใช้งบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการคนละครึ่ง ที่ให้ผู้ไม่ถือบัตรสวัสดิการ ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปี จองสิทธิรับวงเงิน 3,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าของกินจากร้านค้าขนาดเล็กหาบเร่แผงลอยผ่าน www.คนละครึ่ง.com ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 16 ต.ค.-31 ธ.ค. 2563 จำนวน 10 ล้านคน และเริ่มใช้เงินซื้อสินค้าได้ 23 ต.ค. นี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ww.คนละครึ่ง.com ได้เปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนไปแล้ว

มาตรการคนละครึ่ง เดิมคาดว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมโครงการด้วย เพราะจะมีเม็ดเงินจากผู้ลงทะเบียน 3 หมื่นล้านบาท และเงินที่รัฐบาลร่วมจ่ายอีก 3 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนถึง 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยอมตัดใจตัดสายใยไม่ให้ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง หลังจากโดนสังคมถล่มอย่างหนักว่าเป็นมาตรการให้นายทุนกินรวบ โดยที่เอาร้านค้าย่อยหาบเร่แผงลอยมาบังหน้า

เมื่อร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่แนบชิดรัฐบาลชวดเงินมาตรการคนละครึ่ง มาตรการช้อปดีมีคืนจึงเกิดขึ้นมาเป็นรถด่วนต่อท้ายขบวนได้อย่างรวดเร็ว โดยอ้างว่าเป็นการดึงเงินจากคนรวยให้ใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกับทุกภาคส่วน

ดังนั้น มาตรการช้อปดีมีคืน จึงเป็นมาตรการอุ้มคนรวยนายทุนไม่ให้ตกรถด่วนแจกเงินของรัฐบาลนั้นเอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการช้อปดีมีคืน เพื่อกระตุ้นการบริโภค เป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้สูง มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพียงชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเท่าใดนัก

กระทรวงการคลัง นั่งไม่ติดออกมาโต้ว่า ความเห็นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยไม่เป็นความจริง มาตรการช้อปดีมีคืนไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่หรือนายทุน

ทั้งหมดต้องยอมรับว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมามีข้อดีข้อเสีย ส่วนมาตรการไหนเอื้อใครอย่างไร แท้จริงเป็นอย่างไรสังคมมองเห็นและพิเคราะห์ได้ไม่ยาก ว่า รัฐบาลต้องการช่วยใครเอื้อใครกันแน่