posttoday

หนี้เสียเอสเอ็มอีแบงก์ปูด20%

09 ตุลาคม 2563

เอสเอ็มอีแบงก์คาดปีดหีบปี 2563 หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มเป็น 20% ลุ้นขาดทุนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า สิ้นเดือน ก.ย. 2563 มีสินเชื่อคงค้าง 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 1.6 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้มีหนี้เสีย 2 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อคงค้าง

ทั้งนี้หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาโครงการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้่นเดือน ต.ค. นี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ เนื่องจากผลกระทบจากโควิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

"ในช่วงที่มีการพักหนี้ หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้เข้าไปเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้หนี้เสียกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะมีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอีก โดยธนาคารจะบริหารให้หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 1.9-2 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ของสินเชื่อคงค้าง" นางสาวนารถนารี กล่าว

นางสาวนารถนารี กล่าวว่า การพักหนี้ทำให้รายได้ของธนาคารปี 2563 ลดลง คาดว่ารายได้จากดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท จากปี 2562 อยู่ที่ 5,200 ล้านบาท และกำไรปีนี้คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 3 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5 หมื่นราย ใกล้เคียงกับปี 2562 ทั้งปีที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือ 1.5 หมื่นราย ซึ่งการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารปี 2563 เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแทบทั้งหมด เพื่อบรรเทาผลกระทบลูกค้าที่ได้รับจากโควิด-19

นางสาวนารถนารี กล่าวว่า ธนาคารได้พักชำระหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 70% ของลูกหนี้ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลืออีก 20% ไม่สามารถเข้าโครงการได้เรื่องจากเป็นเอ็นพีแอล และอีก 10% มีสินเชื่อเกินเกณฑ์เข้าพักชำระหนี้ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการเข้าโครงการพักชำระหนี้ เพราะยังมีกำลังที่จะผ่อนชำระหนี้ได้

นอกจากนี้ธนาคารยังได้เร่งช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทั้งของธนาคารแห่งประเทศที่คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ต้องผ่อนชำระภายใน 2 ปี และของธนาคารที่มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหลายมาตรการอัตราดอกเบี้ย 2-5% ซึ่งผ่อนชำหนี้ได้ยาวกว่าของ ธปท.

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อ่อนแอเพราะโควิด-19  ผ่านโครงการ “วันใหม่-ไปต่อ” พาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของสองหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งจะได้รับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดภาระการชำระหนี้ พลิกฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง รวมถึงรักษาสถานะทางการเงินของธนาคาร ช่วยให้มีสภาพคล่องรองรับการขับเคลื่อนนโยบายทางการเงิน