posttoday

ตั้งคณะประเมินผลใช้เงินกู้1ล้านล้านบาท

07 ตุลาคม 2563

คลังเสนอตั้ง คณะประเมินผลใช้เงินกู้1ล้านล้านบาท ว่าคุ้มค่าหรือไม่

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ตามที่ได้มีพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดวงเงินกู้เพื่อนำไปใช้สำหรับแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และต้องดำเนินการกู้เงินภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดไปแล้ว 18 โครงการ วงเงินรวม 386,786 ล้านบาท และหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการและเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน 295,196 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2563)

2. โดยที่มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561กำหนดให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ ต้องมีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และข้อ 22 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 กำหนดให้การติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

3. ดังนั้น เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนด และเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 กค. โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จึงได้ยกร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ขึ้น และได้เสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ติดตามการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 พฤษภคม 2563 เพื่อทราบแล้ว และได้ปรับปรุงร่างระเบียบดังกล่าวตามประเด็นและข้อสังเกตของที่ประชุมเรียบร้อยแล้วจึงได้เสนอร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม ประเมินผล และรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. ....มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการติดตาม ประเมินผล และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ของแผนงานหรือโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดให้มีการกำกับติดตามความก้าวหน้าของโครงการ โดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเป็นรายเดือนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือตามแบบที่ สบน. กำหนด และให้ สบน. จัดทำรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเป็นรายเดือน ส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานความก้าวหน้าของโครงการต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งให้ สบน. นำส่งรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการประเมินผลแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019เพื่อทราบ

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลแผนงานหรือโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการ สบน. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการประเมินผลฯ มีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนด เช่น ทำหน้าที่ประเมินผลทั้งในส่วนของการประเมินผลโครงการและการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพี่อทราบและกำหนดแนวทางและวิธีการประเมินผลโครงการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเงินกู้ในแต่ละแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด

3. กำหนดให้เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายงานผลสำเร็จของโครงการ ส่งให้คณะกรรมการประเมินผลฯ ภายใน 60 วัน และให้คณะกรรมการประเมินผลฯ ดำเนินการประเมินผลโครงการ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการประเมินความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน โดยให้จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อยทุก 6 เดือน พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลโครงการส่งให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อทราบ

4. กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลฯ จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบอย่างน้อยทุก 6 เดือน

5. กำหนดให้เมื่อดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดแล้วเสร็จทุกโครงการ ให้คณะกรรมการประเมินผลฯ จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

6. กำหนดให้ สบน. จัดทำสรุปการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดในภาพรวม เสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ พร้อมกับรายงานการกู้เงินของ กค. ตามมาตรา 10 ของพระราชกำหนด ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ รวมทั้งกำหนดให้มีการเผยแพร่ผลการประเมินดังกล่าวในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย