posttoday

บิ๊กตู่ "อาคม" ขลังไม่พอกู้เศรษฐกิจ

06 ตุลาคม 2563

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" จะเป็นขุนคลังช่วยรัฐบาลบิ๊กตู่กอบกู้เศรษฐกิจได้หรือไม่ ไม่นานได้รู้กัน

ในที่สุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็ได้เป็น รมว.คลัง คนที่ 54 มาแทนนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง คนที่ 53 ที่อยู่ในตำแหน่งไม่ถึงเดือน ก็โบกมือรัฐบาลบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ตำแหน่ง รมว.คลัง ว่างมากว่าเดือน

นายอาคม ไม่ได้เป็นตัวเลือกต้นๆ ของบิ๊กตู่ แต่คนที่ถูกทาบทามก่อนหน้านี้ปฏิเสธเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง แทบทั้งสิ้น มีบางคนที่เสนอตัวเป็น รมว.คลัง แต่ก็ไม่เข้าตาบิ๊กตู่

สุดท้ายบิ๊กตู่หมดทางเลือก ต้องขอให้นายอาคม มาช่วยแบกรับตำแหน่ง รมว.คลัง จนได้ในที่สุด ซึ่งทั้งนักลงทุนและนักวิชาการด้านเศรษฐกิจขานรับนายอาคม เพราะมีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็น รมว.คมนาคม และมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเคยเป็นเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ยังอดหวั่นใจไม่ได้ว่า นายอาคม จะเดินซ้ำรอยนายปรีดี เจอพิษการเมือง เจอคนที่ชวนมาทิ้งไว้ข้างหลัง จะทำงานไม่ได้และโบกมือลาเหมือนนายปรีดี ชนิดเป็น รมว.คลัง ได้ไม่ถึงเดือนไปอีกคนหรือไม่

การเป็น รมว.คลัง ในรัฐบาลผสมเป็นเรื่องยาก เพราะการบริหารการเมืองมาก่อนการบริหารเศรษฐกิจเสมอ

ด่านหินแรกที่นายอาคม ต้องเจอคือการบริหารการเมืองในกระทรวงการคลัง การทำงานร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช. คลัง ที่จุดเป็นจุดตาย คือ การแบ่งงานกำกับดูแลว่าจะลงตัวกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งเป็นรอยร้าวของ รมช.คลัง กับ รมว.คลัง 2 คน ก่อนหน้านี้ทั้งนายอุตตม สาวนายน และ นายปรีดี จนต้องโบกมือลา ซึ่งเรื่องนี้จะซ้ำร้อยกับนายอาคม และเป็นจุดประทุให้การทำงานในตำแหน่ง รมว.คลัง ยากขึ้นจนไม่เป็นสุขไม่อันเป็นทำงานหรือไม่

นอกจากนี้ นายอาคม จะยอมรับการเป็น รมว.คลัง ที่ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารเศรษฐกิจ เป็น รมว.คลัง ที่ดูแลแค่กระเป๋าเงินของประเทศ เพราะอำนาจตัดสินใจที่แท้จริง ถูกรวบไว้ที่ศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการอีกหลายชุดที่มาจากคนนอกแต่มีอำนาจสั่งการมากกว่า รมว.คลัง

ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่นายอาคม รู้ดี และยอมเสี่ยงเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลัง ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่นายอาคม จะต้องยอมรับแรงกดดันเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็วว่าบริหารเศรษฐกิจไม่ประสบความสำเร็จ

แรงกดดันที่สำคัญของ รมว.คลังคนใหม่ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว และแข่งขันได้ หลังมรสุมโควิด-19 หากทำไม่ได้นายอาคม จะมีแรงกดดันจากการทำงานอย่างมาก ความล้มเหลวการแก้เศรษฐกิจจะตกอยู่กับ รมว.คลัง คณะที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และทีม ศบศ. ก็จะลอยตัวลอยแพ นายอาคมไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ นายอาคม ยังมีแรงกดดันมากในการบริหารเศรษฐกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันหลังผ่านพ้นโควิด-19 ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด การเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการจำนวนมาก การก่อหนี้ที่สูงกำลังเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง 60% ของจีดีพี ภาวะหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยก็อยู่ระดับสูง 84% ของจีดีพี เพิ่มมากสุดในรอบ 18 ปี ซึ่งล้วนเป็นข้อจำกัดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นแรงกดดันการทำงานของ รมว.คลังคนใหม่ทั้งสิ้น

นายอาคม กลายเป็นความหวังของนักลงทุน ที่จะมายกเครื่องมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นเบี้ยหัวแตกไม่ได้ผล คนได้รับความเดือนร้อนเข้าไม่ถึง การขอขยายพักหนี้ออกไปอีก 1-2 ปี การขอให้ปลดล็อกซอฟท์โลน์ 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องแก้กฎหมาย รมว.คลังคนใหม่กล้าผ่าตัดหรือไม่

ยังไม่รวมกับเรื่องอีกร้อยแปดพันเก้าที่รอให้ รมว.คลังตัดสินใจ ซึ่งมีทั้งข้อเสนอจากกลุ่มทุน นักลงทุน ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน เป็นแรงกดดันเหมือนภูเขาทับอยู่บนอก จะจัดเรื่องลำดับความสำคัญอย่างไร ให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยให้พ้นข้อครหาว่าอุ้มนายทุนก่อนประชาชน

ทั้งหมดเป็นเผือกร้อนที่นายอาคม รมว.คลังคนใหม่ ต้องมาแบกรับแทนรัฐบาลบิ๊กตู่ โดยไร้แขนขาไร้อำนาจ รมว.คลัง ที่แท้จริง เป็นจุดอ่อนที่นักลงทุนมองเห็นและมองว่า "บิ๊กตู่" "อาคม" หมดขลัง กู้เศรษฐกิจอย่างไรก็พ้นวิกฤตได้ยาก