posttoday

ติดตามผลกระทบต่อการโต้วาทีหลังทรัมป์ติดเชื้อโควิด-19

05 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.50-31.80 นักลงทุนรอติดตามแผนการเลื่อนการโต้วาทีระหว่างประธานาธิบดีโดนัลทรัมป์และโจ ไบเดน ภายหลังประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ แถลงเมื่อวันศุกร์ว่าตัวเขาและภรรยาติดเชื้อโควิด-19 โดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์กำหนดอภิปรายโต้วาทีกับคามาลา แฮริส วุฒิสภาพรรคเดโมแครตในวันที่ 7 ตุลาคม ทั้งนี้ รอติดตามความคืบหน้าการเจรจา Brexit หลังจากสหภาพยุโรปดำเนินการทางกฎหมายกับสหราชอาณาจักรต่อการอรุมัติร่างกฎหมายการตลาดภายใน (Internal Market Bill) ด้านนโยบายการเงิน เฟดและอีซีบีมีกำหนดเผยแพร่รายงานการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ โดยนักลงทุนรอติดตามเกณฑ์ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะข้างหน้า ด้านธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางสิงคโปร์ และธนาคารกลางอินเดียมีแนวโน้มคงนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์นี้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศต่างๆ เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านไทย กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเปยเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนกันยายนซึ่งมีแนวโน้มติดลบหกเดือนติดต่อกัน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า โดยเปิดตลาดที่ 31.64 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับลดลงสี่วันติดต่อกันเนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ขณะที่ ความเสี่ยงสูงขึ้นในวันศุกร์หลังข่าวการติดโควิด-19 ของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเช้านี้ อย่างไรก็ดี การลงมติรอบต่อไปในวุฒิสภามีแนวโน้มไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่จากพรรครีพับลิกัน ด้านประเด็น Brexit สหภาพยุโรปได้ดำเนินการทางกฎหมายกับสหราชอาณาจักรในการอนุมัติร่างกฎหมายการตลาดภายใน ซึ่งก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปได้ให้เวลาถึงสิ้นเดือนกันยายนเพื่อให้สหราชอาณาจักรแก้ไขกฎหมายบางส่วนในร่างดังกล่าว ในฝั่งของไทย ธปท. รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลสูงต่อเนื่องในเดือนสิงหาคมที่ 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังอ่อนแอจากการส่งออกไม่รวมทองหดตัวสูงถึง 13.6%YoY รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ โดยมีปัจจัยฉุดจากดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.60 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิม โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.64 ถึง 0.70% ส่วนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ -0.50 ถึง -0.55% โดยในช่วงกลางสัปดาห์ปัจจัยกดดันตลาดตราสารหนี้มาจากประเด็นความเชื่อมั่นของตลาดต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยความคืบหน้าล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีมติอยู่ที่ 214 ต่อ 207 ทั้งนี้มี ส.ส. จากฝั่งของเดโมแครต 18 ท่านที่ไม่ยอมรับแผน ซึ่งบ่งบอกว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จึงทำให้เชื่อว่าฝั่งวุฒิสภาที่มีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะไม่ยอมรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาอย่างตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯเดือนกันยายนปรับเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 101.8 สูงกว่าตัวเลขเดือนก่อนและที่ตลาดคาดที่ 86.3 และ 90.0 ตามลำดับเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตดีขึ้น ส่วนตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด โดย ADP รายงานว่าการจ้างงานเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 7.49 แสนตำแหน่ง มากกว่าตัวเลขเดือนก่อนและที่ตลาดคาดที่ 4.81 และ 6.49 แสนตำแหน่งตามลำดับ ด้วยประเด็นข้างต้นทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 0.70% แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านไปได้และกลับมาปรับลดลงด้วยประเด็นที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM) สหรัฐฯ เดือนกันยายนลดลงมาที่ 55.4 จาก 56.0 ในเดือนก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 56.5 รวมถึงข่าวใหญ่ท้ายสัปดาห์ที่ทางประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐฯ แถลงผ่าน Twitter ว่าตัวเขาเองและภรรยาติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk-off ซึ่งนักลงทุนควรติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดว่าประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในแง่ไหนบ้าง

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 โดยธนาคารโลกมาอยู่ที่ -8.3% ลดลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ -5.0% ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว 3.5-4.9% ในปี 2021 ทั้งนี้ธนาคารโลกประเมินว่าภูมิภาคเอเชียยังทรุดหนักจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอและผลกระทบจากการระบาดของไวรัสต่อการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับที่ปิดเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้เราเชื่อว่าการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนจะถูกจำกัดจากการประมูลของพันธบัตรรัฐบาลตัวยาวที่กว่าจะมีขึ้นอีกครั้งเป็นช่วงกลางเดือนตุลาคม โดย ณ วันที่ 02 ตุลาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.59% 0.67% 0.87% 1.08% และ 1.38% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา credit spread ของหุ้นกู้ rating AAA ถึง A- ปรับตัวลดลงประมาณ 1-4 bps ขณะที่หุ้นกู้ rating ต่ำกว่า A- ปรับตัวสูงขึ้น 1-3 bps สะท้อนมุมมองที่นักลงทุนยังคงเข้าซื้อหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีครับ

ติดตามผลกระทบต่อการโต้วาทีหลังทรัมป์ติดเชื้อโควิด-19

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน รวมมูลค่าสุทธิประมาณ 2,446 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 341 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,105 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ