posttoday

หนี้ครัวเรือนเพิ่มแตะ 83.8% ต่อจีดีพี

01 ตุลาคม 2563

ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มสูงสุดรอบ 18 ปี สวนทางเศรษฐกิจติดลบ แบงก์ชาติตามติดใกล้ชิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 2/2563 จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 18 ปี ครั้งใหม่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี สูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อจีดีพี

นอกจากนี้ เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (Quarter on Quarter) ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563 เร่งขึ้นจากที่เพิ่มเพียง 1.2 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/2563 โดยทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนภาพ 2 ด้านซึ่งแตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองเดิมว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง จะช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นมาก มาจากจีดีพีที่หดตัวสูงเป็นสำคัญ สำหรับยอดเงินต้นแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย โดยยอดเงินต้นที่ยังไม่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ ธปท. ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีหลังในไตรมาส 3-4 ปีนี้ เศรษฐกิจจะยังขยายตัวติดลบอยู่ แต่น้อยกว่าไตรมาส 2/2563 จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป