posttoday

ธนาคารโลกคาดศก.ไทยแย่สุดลบ10.4%

29 กันยายน 2563

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 แย่สุดติดลบ 10.4% ลากยาวใช้เวลาฟื้นฟู 3 ปี ถึงเหมือนเดิม

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง คาดว่าปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 8.3% โดยจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายได้ปกติก่อนมีการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เลวร้าย มีการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว ภาคการเงินมีปัญหาทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวเหมือนเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการเกิดภัยแล้งน้ำท่วม กระทบกับรายได้เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 จะทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวติดลบถึง 10.4% และต้องใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมก่อนมีการระบาดของโควิด-19

สำหรับเศรษฐกิจของไทยปี 2564 ธนาคารโลกคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.9% กรณีปกติ และกรณีเลวร้ายจะขยายตัวได้ 3.5%

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจยังอยู่ที่การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีวัคซีน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มี รมว.คลัง ลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลดลง

"นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยใช้เงินถึง 13% ของจีดีพี ขนาดมากสุดในภูมิภาค แต่ปัญหาอยู่ปฏิบัติได้หรือไม่ การเบิกจ่ายงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำได้แค่ 50% ความเสี่ยงการเมือง ความไม่แน่นอนทีมเศรษฐกิจ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) การประท้วงรัฐบาล ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นเศรษฐกิจต่ำลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ และลากยาวไปปีหน้า และกรณีเลวร้ายจะลากยาวไปถึง 3 ปี" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

ด้าน นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ประชาชนครัวเรือน ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหาสมดุลในการดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาโดยเร็ว เพราะตอนนี้การลงทุนลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง รัฐบาลต้องมองระยะยาวว่านโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จะมีการดึงนักลงทุนต่างประเทศกลับมาได้อย่างไร

นางเบอร์กิท ฮานสล์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมายังไม่เพียงพอ ถึงจะมีวงเงิน 8-13% ของจีดีพี แต่ปฏิบัติได้จริงมีเงินช่วยเหลือออกไปน้อยแค่ 4% ของจีดีพี ซึ่งธนาคารโลกดูว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นอะไรออกมาอีกบ้าง ไม่ว่า จะเป็นมาตรการแจกเงิน 3,000 บาท ธนาคารโลกก็มองว่ายังไม่เพียงพอ

"รัฐบาลต้องพิจารณาเรื่องการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของไทย รัฐบาลต้องชั่งใจว่าการมี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และยังไม่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในเมืองไทยได้ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะนโยบายการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย รัฐบาลต้องตัดสินใจว่า สมดุลต่อไปในอนาคตจะสร้างสมดุลเรื่องสาธารณสุขกับเรื่องเศรษฐกิจให้ไปกันได้อย่างไร" นางเบอร์กิท ฮานสล์ กล่าว