posttoday

วิกฤตเศรษฐกิจ วิบากกรรม "รมว.คลัง ปรีดี"

14 สิงหาคม 2563

ปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง เป็น รัฐมนตรีป้ายแดงที่ถูกตั้งความหวังไว้มากที่สุด ว่าจะมานำพาเศรษฐกิจให้พ้นจากวิกฤตพิษโควิด-19

ก่อนมาเป็น รมว.คลัง ปรีดี นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย และยังนั่งเป็นประธานสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็น ส่วนหนึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ยังมีสภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา กกร. ในเสนอมาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจให้รัฐบาลดำเนินการจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่เอกชนเสนอ

นอกจากนี้ ปรีดี ยังนั่งเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ด้านเศรษฐกิจในศูนย์โควิด-19 รู้เห็นอุปสรรคของการขับเคลื่อนแก้เศรษฐกิจเป็นอย่างดี

เมื่อ ปรีดี เปลี่ยนบทบากจากฝากเอกชนที่เป็นผู้เสนอ มาเป็น รมว.คลัง ที่มีอำนาจเต็มในการบริหารเศรษฐกิจ จึงถูกตั้งความหวังไว้อย่างมาก ว่าปรีดี ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้ปัญหาอะไรอีกแล้ว สามารถลงมือฝ่าตัดปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคกับเศรษฐกิจได้ทันที

ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ ที่ต้องการช่วยเป็นการเร่งด่วน คือ การช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการช่วยเหลือคนตกงานที่ตอนนี้มี 3 ล้านคน และหากไม่ดำเนินการอะไรจะสูงถึง 8 ล้านคน ข้อมูลนี้ปรีดี รู้ดี เพราะตอนนั่งอยู่ใน กกร. และได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขเป็นการด่วน

มาตรการที่ กกร. คือการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้ได้ทั่วถึง เนื่องจากซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีปัญหาเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึง วันนี้ปล่อยไปได้ 1 แสนล้านบาท และหยุดนิ่งไม่มีเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีอีกจำนวนมาก ที่สมัย ปรีดี นั่งอยู่ กกร. เสนอ ให้รัฐบาลทำ ไม่ว่าจะเป็นยกเว้นภาษีให้ผู้ประกอบการ การออกมาตรการภาษีกระตุ้นการบริโภค

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ กกร. เคยเสนอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือการตกงาน เช่น การช่วยจ้างค่าจ้างให้แรงงาน 50% เป็นเวลาช่วงหนึ่ง และนายจ้างจ่าย 25% และนายจ้างขอพนักงานลดค่าแรง 25% เพื่อประคองธุรกิจและอุ้มแรงงานให้พ้นจากวิกฤตโควิดในปีนี้ไปให้ได้ก่อน และปีหน้าค่อยว่ากันใหม่อีกที ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเลย

ทั้งหมดของวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นวิบากกรรมของ ปรีดี ว่าจากผู้ที่เคยเสนอ เมื่อเป็นผู้สนอง จะทำได้หรือไม่ เพราะการเป็นผู้เสนอง่าย แต่การเป็นผู้สนองเป็นเรื่องยาก มีข้อจำกัดทั้งทางการเมือง ข้อกฎหมายต่างๆ นานา ที่ ปรีดี อาจจะฝ่าทางตันไม่ได้

เค้าลางที่เห็นได้ชัดมาก่อนหน้านี้ คือ ปรีดี ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะจากเดิมที่คาดว่าจะได้นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจให้กระชับมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ได้แค่เป็น รมว.คลัง

นอกจากนี้ เดิมคาดว่า ปรีดี จะเป็น รมว.คลัง รายงานตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การปฏิบัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และช่วยคนตกงาน ทำได้อย่างรวดเร็วทันเวลา แต่ตอนนี้ดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น

ปรีดี ประชุม ครม. นักแรก (13 ส.ค.) ที่ผ่านมา ยังไม่ยอมเข้ากระทรวงการคลังทำงาน โดยหลังการประชุม ครม. ได้เดินทางไปดูงานในฐานะประธานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต่างจังหวัด ก่อนที่วันนี้ (14 ส.ค.) จะเข้าฟังรายงายปัญหาการปล่อยกู้ซอฟท์โลน์ ที่ ธปท. โดยมีการเรียกผู้บริหารธนาคารออมสิน เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางปลดล็อกปัญหาในครั้งนี้ด้วย โดยการเดินทางและการประชุมเป็นความลับไม่มีการเสนอข่าว เพราะดูเหมือน ปรีดี ยังพร้อม และกลัวพลาดในการให้ความเห็นกับสื่้อ ต่างจากตอนที่อยู่ภาคเอกชน

หลังจากนี้ในช่วงเช้าวันที่ 17 ส.ค. ปรีดี ได้เรียกผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อให้นโยบาย ซึ่งในการประชุมจะมี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพลังงาน เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า สุพัฒนพงษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงานของกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง

ส่งผลให้ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ส.ค. ปรีดี ต้องเรียกประชุมผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีกวงหนึ่ง ซึ่้งก็ยังมีปัญหาว่า ปรีดี จะได้ดูทั้งหมดหรือไม่ เพราะจะต้องแบ่งงานแบ่งโค้วตาหน่วยงานสำคัญๆ ของกระทรวงการคลัง ให้ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช. คลัง มากกว่าที่สมัย รมว.คลัง คนหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

นี่ยังไม่นับรวม การที่นายกรัฐมนตรี ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 หรือ "ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ" ที่เหมือนต้องนับหนึ่งแก้เศรษฐกิจกันใหม่ ทั้งที่เศรษฐกิจเว้นว่างจาก รมต.บริการเศรษฐกิจมา 1 เดือนเต็ม

ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น นายกรัฐมนตรียังตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ โดนมี ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานกรรมการ แทนที่จะเป็นชื่อของ ปรีดี หรือ พร้อมพัฒน์

นอกจากนี้ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ จะแบ่งย่อยเป็นคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดย่อม

2. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว

3. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา เพื่อสนับสนุนข้อมูลและรายละเอียดข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการตรงนี้จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

การตั้ง ไพรินทร์ เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ เท่ากับมีอำนาจมากกว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกกระทรวง มีอำนาจมากกว่า ปรีดี ซึ่งเป็น รมว.คลัง รวมถึงมีอำนาจมากกว่า พร้อมพัฒน์ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกลายๆ กลายเป็นอำนาจซ้อนอำนาจหลายชั้นหลายซ้อน จากที่จะเป็นผลดีอาจจะเป็นผลร้ายทำให้การแก้วิกฤตเศรษฐกิจวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม

ไม่ว่าผลของการแก้เศรษฐกิจจะออกมาอย่างไร แต่การเป็น รมว.คลัง หนีไม่พ้นความรับผิดชอบความคาดหวังจากนักลงทุน การไม่มีอำนาจเต็มและยังถูกทับซ้อนด้วยกรรมการต่างๆ จนไม่รู้ว่า ปรีดี อยู่ตรงไหนของหัวขบวนการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ทำความตั้งใจแก้เศรษฐกิจของ รมว.คลัง อยู่ในความเสี่ยงที่จะล้มเหลว

วิกฤตนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ ฝีมือของ ปรีดี ว่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจ และชื่อเสี่ยงของตัวเองที่สั่งสมมานาน รอดไปได้หรือไม่