posttoday

เดินหน้าตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ

28 กรกฎาคม 2563

กระทรวงการคลังเดินหน้าตั้งกองทุน กบช. อุ้มแรงงานในระบบ 14 ล้านคน

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเป็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทำให้แรงงานในระบบทั้งหมด ประมาณ 14 ล้านคน ได้มีรายได้หลังเกษียณอายุ ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน มีสัดส่วนสูงถึง 50%

โดยกฎหมาย กบช. นี้ จะมีทำหน้าที่เหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนภาคสมัครใจ ซึ่งมีแรงงานในระบบเป็นสมาชิกกองทุนนี้เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น แต่กองทุน กบช. จะเป็นกองทุนภาคบังคับ โดยที่นายจ้างจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมาและใส่เงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้แรงงานในระบบ 14 ล้านคนจะมีเงินออมใช้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กบช. นี้ กำหนดว่า ให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี เป็นลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน ได้เข้าเป็นสมาชิก โดยเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะให้ระยะเวลา 1 ปี กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องตั้งกองทุน กบช. และภายใน 3 ปี กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องตั้งกองทุน กบช. เช่นกัน และภายใน 5 ปี กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องตั้งกองทุนดังกล่าว

สำหรับการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างต้องมีเพดานค่าจ้างไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อเดือน ในปีที่ 1-3 จะจ่ายฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง และปีที่ 4-6 จ่ายฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง และปีที่ 7-9 จ่ายฝ่ายละ 7% ของค่าจ้าง และปีที่ 10 ขึ้นไป จ่ายฝ่ายละไม่เกิน 10% ของค่าจ้าง โดยลูกจ้างที่มีค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องจ่าย ส่วนกรณีที่ลูกจ้างและนายจ้างส่งเพิ่มได้ไม่เกินสูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้างโดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

ในส่วนผลตอบแทนที่ลูกจ้างจะได้รับ ก็สามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเงินที่ได้จากผลประโยชน์ตอบแทนจะได้รับการยกเว้นภาษี

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวสำหรับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายอย่างมากหากไม่มีการจัดตั้งกองทุน กบช. ขึ้นมา” รายงานข่าว ระบุ