posttoday

กรมสรรพากรคืนภาษีแสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

24 กรกฎาคม 2563

กรมสรรพากรเต็มสูบช่วยพยุงเศรษฐกิจ คืนเงินภาษีเข้าระบบกว่า 1 แสนล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรคืนภาษีให้กับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ผ่านนโยบายต่างๆ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้ ที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรได้ดำเนินการ 9 ยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี หรือ Digital Transformation ประกอบด้วย

1. การยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการเปิดให้สตาร์ทอัพ เข้ามามีส่วนร่วม โดยการเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นภาษีของประชาชนมากขึ้น โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการแล้วผ่านแพลทฟอร์มที่ชื่อว่า i Tax และ noon

2. My Tax Account ที่เชื่อมโยงระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเงินบริจาคดิจิทัล

3. E-Donation ระบบการคืนเงินภาษีจากการบริจาค ที่กรมสรรพากรจะรวมรวบข้อมูลการบริจาคระหว่างปีให้ทั้งหมดเอง โดยผู้เสียภาษีไม่ต้องเก็บและยื่นเอกสารดังกล่าวใหักับกรมอีก

4. Aree Chatbot ระบบแชทบอทในการตอบคำถามให้ข้อมูลด้านภาษีกับผู้เสียภาษี ซึ่งจะลดต้นทุนในการเดินทางมาสรรพากรพื้นที่และต้นทุนในการติดต่อกรมสรรพากร และเพื่อรองรับการระบาดของโควิด-19 ด้วย

5.Tax Refund on promptpay ซึ่งเป็นระบบการคืนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่จะให้ผู้เสียภาษีได้รับเงินภาษีคืนรวดเร็ว โดยเฉลี่ยหากเอกสารต่างๆ ครบถ้วนจะได้รับเงินคืนภายใน 3 วัน

6. VRT on Blockchain การใช้ระบบบล็อกเชนเชื่อมโยงการคืนภาษีของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงในภาคการท่องเที่ยว ที่ให้ผู้ประกอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในประเทศ

7. E-tax invoice การส่งใบกำกับภาษีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ โดยจะช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับผู้ประกอบการในการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีในรูปแบบใหม่

8.E-stamp การชำระอากรสแตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่ต้องซื้อสแตมป์ดวงเพื่อชำระภาษี ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเสียภาษี และเป็นการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบ e-Business ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

9.E-withholding Tax การหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ความสะดวกและลดต้นทุนของการทำธุรกิจในระยะยาว