posttoday

เสี่ยงแหกโค้ง ดันคนนอกนั่งผู้ว่า ธปท.

13 กรกฎาคม 2563

การคัดเลือกผู้ว่า ธปท. คนใหม่ จะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐบาลมีการบริหารงานและแก้เศรษฐกิจของประเทศแบบวิถีใหม่หรือย่ำอยู่กับวิถีเดิมๆ เก่าๆ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการขยายเวลารับสมัครผู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ก็ปรากฎชื่อ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ส่งใบสมัครก่อนเวลาปิด 16.30 น. ได้ไม่นาน

ว่ากันว่า นายเศรษฐพุฒิ เป็นหนึ่งคนนอกที่เป็นตัวเต็งผู้ว่า ธปท. แต่ในการรับสมัครในรอบแรกกลับไม่ปรากฏชื่อ ทำให้มีการขยายเวลาการรับสมัครผู้ว่า ธปท. โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ให้เหตุผลว่า ต้องการคนนอกที่มีความหลากหลายให้กรรมการได้คัดเลือก

สำหรับการขยายเวลาสมัครผู้ว่า ธปท. นอกจาก นายเศรษฐพุฒิ ยังมีนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีต กรรมการ ธปท. ได้ยื่นใบสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า ธปท. อีกหนึ่งคน ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าคงไปไม่ถึงตำแหน่งนี้ เพราะเหตุผลของการคัดสรร

ขณะที่การเปิดรับสมัครรอบแรก มีผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่า ธปท. 4 คน ประกอบด้วยคนใน 2 คน ได้แก่ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

คนนอก 2 ราย ได้แก่ นางต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบุตรสาวนายชวลิต ธนะชานันท์ อดีตผู้ว่าการ ธปท. และ อดีต รมช. คลัง และ นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตรองกรรมการผู้จัดการประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุนและผู้จัดการกองทุนรวม ของบลจ.อยุธยา เจเอฟ

ซึ่งหากพิจารณาผู้สมัครรอบแรก ต้องยอมรับว่า คนใน 2 คน มีภาษีดีกว่าคนนอกหลายช่วงตัว ซึ่งเป็นโอกาสให้คนในที่ทำงานเพื่อองค์กรมาตลอด ได้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งสูงสุดเป็นขวัญกำลังใจของทั้งตัวบุคคลและองค์กร ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ของ ธปท. ได้มีกำลังใจและแรงผลัดดันที่จะทำงาน เพราะเห็นความเจริญก้าวหน้ามีโอกาสที่จะได้ไปอยู่ในตำแหน่งสูงสุดขององค์กร

แต่เมื่อมีการเปิดให้มีการรับสมัครรอบสอง ทำให้โอกาสคนในวูบหายไปทันที ยิ่งปรากฎชื่อคนทีเหมือนเป็นเป้าล็อกกันไว้แล้วมาลงสมัคร ทำให้การคัดเลือกผู้ว่า ธปท. ถูกมองว่า ยังเป็นวิถีแบบเก่า ยังไม่เป็นวิถีใหม่ที่รัฐบาลพยายามโฆษณาว่า การบริหารประเทศทุกภาคส่วนต้องเป็นวิถีใหม่ ประเทศถึงจะไปรอด

ว่ากันตามเนื้อผ้า นายเศรษฐพุฒิ นายเมธี และ นายรณดล มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นผู้ว่า ธปท. ได้ทั้งนั้น แต่การขึ้นมาเป็นแล้วต้องไม่มีข้อกังขาว่ามีการเลือกแต่คนของเรา ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหามาที่หลัง

หากนายเมธี และ นายรณดล ได้รับเลือกเป็นผู้ว่า ธปท. น่าจะไม่มีข้อกังขาใดๆ ให้สังคมคาใจ

แต่หากนายเศรษฐพุฒิ ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ว่า ธปท. ก็จะมีคำถามคาใจหลายประการ อันดับแรก นายเศรษฐพุฒิ นั่งเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง มีผลประโยชนขัดแย้งกันหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของนักกฎหมายที่จะไปตีความกันทั้งแบบแคบแบบกว้าง ทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาตร์

นอกจากนี้ ยังมีปมปัญหาของนายรังสรรค์ ที่เคยเป็นนั่งเป็นที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็นรัฐบาล คสช. แม้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง นายรังสรรค์ จะไม่ได้เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็ตาม

แต่การที่อดีตที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ว่า ธปท. สังคมคงมีคำถามในทางไม่ดี และคนที่รับเคาะห์หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดินสายว่ารัฐบาลจะทำงานแบบวิถีใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังสลัดภาพการทำงานแบบวิถีเดิมๆ ไม่ได้

การสรรหาผู้ ธปท. ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในอดีตรัฐบาลสมัยหนึ่งตั้งกรรมการสรรหา กรรมการ ธปท. ก็มีปัญหาถูกฟ้องล้มให้เป็นโมฆะมาแล้ว เพราะพบว่ากรรมการสรรหาหลายคนมีผลประโยชน์ขัดแย้ง นั่งเป็นกรรมการในธนาคารพาณิชย์ และมาเป็นกรรมการสรรหา กรรมการ ธปท. ที่เป็นผู้กำกับสถาบันการเงินที่ตัวเองทำงานให้อยู่

กรณีสรรหาผู้ว่า ธปท. ใหม่ครั้งนี้อาจจะประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถึงไม่เป็นโมฆะทางกฎหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จะเป็นโมฆะทางพฤตินัย สังคมตั้งคำถามการมีส่วนได้เสียในทางที่ไม่ดีได้ ที่สำคัญจะทำให้คนไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะบริหารเศรษฐกิจแบบวิถีใหม่ได้ เพราะสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่คือการย่ำอยู่กับวิถีเก่าๆ ทั้งนั้น