posttoday

สรรพสามิตบี้บุหรี่นอกอุ้มบุหรี่ไทย

07 กรกฎาคม 2563

กรมสรรพสามิตบีบบุหรี่นอกติดแสตมป์ใหม่ในไทย เพิ่มต้นทุนพันล้าน

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศรายใหญ่ ทั้ง 3 ราย เกี่ยวกับโครงการพัฒนาระบบแสตมป์และการบริหารจัดการยาสูบให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) และให้เป็นไปตามพิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งดำเนินการศึกษาการนำระบบการติดตามและแกะรอย (Tracking and tracing system) มาใช้สำหรับแสตมป์ยาสูบ หลังจากผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศอ้างว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานยาสูบได้

“ผมขอรอดูหนังสือร้องเรียนจากผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศก่อนว่าโครงการดังกล่าวทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้วมันจะมีผลไม่ดีอย่างไร หรือว่าจะทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้าลดได้กำไรเพิ่มขึ้น ส่วนโครงการทำให้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศเสียเปรียบโรงงานยาสูบ มันเป็นเรื่องไม่ดีอย่างไร” นายพชร กล่าว

รายงานจากตัวแทนผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศได้รวมตัวกัน เพื่อเตรียมยื่นหนังสือเรียกร้องให้กรมสรรพสามิตมีการทบทวนความคุ้มค่าของโครงการพัฒนาระบบแสตมป์และการบริหารจัดการยาสูบ นำระบบการติดตามและแกะรอยมาใช้สำหรับแสตมป์ยาสูบ เนื่องจากเห็นว่าระบบนั้นยังไม่สามารถทำให้ประเทศไทยมีระบบติดตามและแกะรอยของสินค้ายาสูบที่เป็นไปตามพิธีสารฯ ของ WHO ได้เต็มรูปแบบ จึงเห็นว่าหากสรรพสามิตยังต้องการใช้แสตมป์ยาสูบต่อไป ก็ควรพัฒนาระบบดังกล่าว โดยไม่ก่อให้เกิดภาระต่อผู้นำเข้ามากจนเกินไป

ทั้งนี้ นโยบายของกรมสรรพสามิต ในการนำระบบการติดตามและแกะรอยมาใช้สำหรับแสตมป์ยาสูบมาใช้ โดยให้มีการปิดและทำการบันทึกข้อมูล (Activate) แสตมป์ยาสูบในประเทศไทยนั้น จะทำให้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศต้องมีการตั้งโรงงานบุหรี่ในประเทศไทยขึ้นในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือเขตปลอดอากร เพื่อแกะ (Unpack) สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจากโรงงานในต่างประเทศออกมาติดแสตมป์ยาสูบ และแพ็ค (Pack) สินค้ากลับเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยการตั้งโรงงานใหม่นั้นจะทำให้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนตั้งโรงงานและซื้อเครื่องจักร 700-800 ล้านบาท และค่าแรงงานและค่าวัสดุห่อใหม่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี โดยต้นทุนดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ผู้นำเข้าต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศไทย อีกทั้งในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ จึงเห็นว่าอาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะกำหนดให้ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศต้องลงทุนเป็นวงเงินจำนวนมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศมากกว่า 60 ล้านซองต่อเดือน หรือมากกว่า 2 ล้านซองต่อวัน โดยบุหรี่ต่างประเทศมีส่วนแบ่งการตลาดครึ่งหนึ่งของตลาดบุหรี่ในประเทศไทย หากผู้นำเข้าต้องมาเปิดโรงงานเพื่อ Activate แสตมป์ภายในประเทศ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้นำเข้าสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาในการแข่งขันได้

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้การส่งมอบสินค้านำเข้ามีความล่าช้า และมีปัญหาด้านคุณภาพตามมา เพราะว่านำเข้ามาแล้วต้องแกะซองสินค้าเพื่อ Activate แสตมป์ใหม่ตามนโยบายของสรรพสามิต รวมถึงมองว่าระบบการ Activateแสตมป์ดังกล่าวก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้ เนื่องจากผู้ค้าบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทยในปัจจุบันก็ไม่ได้ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์เรื่องแสตมป์ที่มีอยู่แล้ว และยังไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ด้วย จึงทำให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมการค้าบุหรี่ที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่ในทางกลับกันหากมีการบังคับใช้แนวทางดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ใช้ระยะเวลามากขึ้น และเพิ่มขั้นตอนการทำธุรกิจ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ผิดกฎหมายไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

อีกทั้ง ยังมองว่านโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก จากผลกระทบด้านการผลิตและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะไม่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตในประเทศ เพราะการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) สามารถปิดแสตมป์ได้ตามเดิม เพียงแค่ติดตั้งอุปกรณ์ Activate ไว้ที่สายการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่านโยบายดังกล่าวอาจขัดกับพันธกรณีขององค์การการค้าโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้

“ตอนนี้ผู้นำเข้าทุกรายได้รวมตัวกัน เพื่อที่จะเรียกร้องให้กรมสรรพสามิตมีการทบทวนเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ และผู้ผลิตภายในประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหากไม่ได้รับการตอบรับจากกรมสรรพสามิต อาจจะต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ ต่อไป” รายงานข่าว ระบุ