posttoday

เศรษฐกิจไทยไตรมาส2ลบไม่ถึง20%

30 มิถุนายน 2563

เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ลบเกิน 10% แต่ดิ่งไม่เกิน -20% คาดเดือน พ.ค. ผ่านจุดต่ำสุด

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2563 จะขยายต่ำที่สุดในปีนี้ โดย ธปท. คาดว่า จะขยายตัวติดลบ 2 หลัก หรือมากกว่า -10% แต่ไม่เกิน -20% และคาดว่าทั้งปีจะหดตัว -8.1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดการณ์ไว้

"เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2จะขยายตัวติดลบมากกว่า -10% แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดขึ้น -20% และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 แต่เป็นการขยายตัวติดลบลดลง" นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจ ในเดือน มิ.ย. เริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจในเดือน พ.ค. น่าจะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว โดยธปท. คาดว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยฟื้น ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแรงพอสมควร และ มาตรการคลายล็อกในไทย ทำให้คนเริ่มใช้จ่าย การท่องเที่ยวเรื่มผ่อนคลายมากขึ้น

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านต่างประเทศ ทุกประเทศก็มองตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วง ไตรมาส 2 หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัว ถ้าไม่มีเหตุการร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การระบาดรอบ 2 ทำให้ต้องปิดประเทศหลายที่ กรณีระหว่างจีนกับสหรัฐ และเสถียรภาพระบบการเงินของโลก ที่ในหลายประเทศ ตราสารหนี้เอกชน เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้

ส่วนปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามการใช้งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะนำไปใช้อย่างไร แต่ก็เป็นทิศทางที่ ธปท.สนับสนุนให้มีการใช้เงินกู้ ไปในการจ้างงาน สร้างงาน ซึ่งเม็ดเงินที่มีนั้นมากพอแล้ว แต่ขอให้ใช้ให้ตรงจุด

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ธปท.ยอมรับว่าการแข็งค่าของค่าเงิน เป็นปัจจัยลบ ที่ส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ซึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ติดตามดูแลใกล้ชิด ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะเป็นบวกเล็กน้อย

นายดอน กล่าวว่า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงิน ตลอดทั้งปีนี้ จะมีทิศทางปรับขึ้น เพราะวิกฤตนี้เพิ่งเริ่ม แต่ยืนยันว่า ปัญหาดังกล่าว จะไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ ซึ่งระบบสถาบันการเงินไทย มีความเข้มแข็งลำดับต้นๆของโลก สามารถรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้ง ธปท.ก็มีแนวนโยบายดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. ยังหดตัวสูงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ต่างประเทศ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวจากการจำกัดการเดินทาง ส่งออกสินค้าหดตัว -23.6% ตามอุปสงค์ต่างประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ การลงทุนและการผลิตภาคเอกชนหดตัว แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการเยียวยา ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลง