posttoday

เศรษฐกิจไทยดื้อยา พ.ร.ก.กู้เงิน1.9ล้านล้านบาท

26 มิถุนายน 2563

กลายเป็นประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ขยายตัวติดลบมากที่สุด 8.1% จนวิกฤตต้มยำกุ้งต้องเสียแชมป์เพราะปี 2541 ติดลบ 7.6%

ว่ากันไปแล้วประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบนี้ไม่ใครอยากได้ ไม่มีใครอยากเป็นแชมป์ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไวรัสโควิด-19 พ่นพิษเศรษฐกิจไทยหนักหนาสาหัสไปทุกหย่อมหญ้า ไม่มีใครไม่ได้รับความเดือดร้อนหลังจากการหยุดกิจการทางเศรษฐกิจทั้งประเทศเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อโควิด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5% พร้อมกับปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายติดลบ 8.1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3% (คาดการณ์เดือนมี.ค.2563) เรียกได้ว่า บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น จนตลาดหุ้นขานรับติดลบทันที

เศรษฐกิจไทยที่ยังตกแรง เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทบทุกตัวดับสนิท จากข้อมูลของ กนง. คาดการณ์ว่าการส่งออกจะติดลบเพิ่มเป็น 10.3% จากเดิมติดลบ 8.8% โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือน พ.ค. ติดลบ 22.50% ทำสถิติติดลบมากสุดในรอบ 150 เดือน ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ไม่อยากได้เช่นกัน

ด้านการท่องเที่ยว กนง. คาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมคาดว่า 15 ล้านคน ไม่ต้องไปเทียบกับภาวะปกติที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทยปีละ 40 ล้านคน

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าติดลบ 3.6% จากเดิมติดลบ 1.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ติดลบถึง 13.8% จากเดิม 4.3% ซึ่งถือว่าติดลบเพิ่มขึ้นมาก เพราะทั้งประชาชนและนักลงทุนผวาโควิดไม่กล้าใช้จ่ายไม่กล้าลงทุน โดยมีเพียงการลงทุนภาครัฐเท่านั้นที่ยังขยายตัวเป็นบวก 5.8% เท่าคาดการณ์เดิม ที่ กนง ประมาณการไว้เดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

กนง. และ สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ประมาณการณ์ตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์อีก ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกลับมารุนแรงอีกหรือไม่ โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ติดลบลึกที่สุดในไตรมาส 2 นี้

สอดคล้องกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกตัวตลอดว่าไม่ใช่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ระบุว่า เศรษฐกิจเไทยดือน ก.ค. 2563 จะอาการหนัก เพราะเงินเยียวยาที่รัฐบาลแจกให้คน 5,000 บาท 3 เดือน จะหมดแล้ว ดังนั้นจะเห็นมีธุรกิจที่ทยอยปิดตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น การส่งออกยังไม่ฟื้น โรงงานยังไม่สามารถกลับมาผลิตได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของ 4 แสนล้านบาท ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วที่สุด

เมื่อพูดถึง พ.ร.ก. กู้เงิน ทำให้เกิดคำถามคำโตว่า พ.ร.ก. ที่รัฐบาลออกมา 3 ฉบับ วงเงินรวมกัน 1.9 ล้านล้านบาท ทำไมไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นไข้จากโควิด-19 เลยแม้แต่น้อย

เพราะจากการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของ กนง. เห็นได้ชัดว่า ตอนประมาณการเดือน มี.ค. นั้น เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 5.3% หลังจากนั้นไม่นานก็มีการออกพ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาตร์เช่นกัน แต่การประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดเมื่อปรากฎว่า เศรษฐกิจไทยทรุดลงไปถึงลบ 8.1% มากกว่าตอนมี พ.ร.ก. เสียอีก

ทำไมเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยดื้อยา พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท หรือ ว่า พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท ยังเป็นยาที่แรงไม่พอที่จะรักษาอาหารป่วยโคม่าของเศรษฐกิจไทย

เมื่อลองไปดูการออกฤทธิ์ของ พ.ร.ก. แต่ละตัวจะพบว่า ในส่วนแรก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ออกมายอมรับว่าไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเป็น รมว.คลัง ในประวัติศาตร์ที่กู้เงินมากที่สุด ในส่วนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก 6 แสนล้านบาท เป็นการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือนบ้าง หรือ 1,000 บาท 3 เดือนบ้าง ให้กับเกือบทุกคนทั่วไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หมดเงินไปแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท เหลือเงินอยู่ 2 แสนล้านบาท ที่รอใช้เยียวยาเพิ่มต่อไป

ส่วนที่สอง คือ เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีหน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการใช้เงินรวมทุกแผนงาน จำนวน 43,851 โครงการ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท สูงกว่าเงินกู้ 3 เท่า เงินก้อนนี้ถูกมองว่าเป็นเบี้ยหัวแตก เป็นงบจัดสรร ไม่เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจริง

สำหรับ พ.ร.ก. เงินกู้ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ที่ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ปรากฎว่ามาตรการนี้ไม่ทำงาน ปล่อยกู้ไปได้เพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะธนาคารพาณิชย์กลัวหนี้เสียไม่กล้าปล่อย และที่ปล่อยไปก็ให้กับลูกค้าดีของธนาคารไม่ได้เดือดร้อนจริง กลายเป็นคนอยากได้เงินกู้ไม่ได้ ส่วนคนไม่อยากได้ก็ได้

สุดท้าย พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้เอกชน ของธปท. วงเงิน 4 แสนล้านบาท ต้องถือว่ามาตรการนี้ตายสนิท เพราะตั้งแต่ตั้งกองทุนมายังไม่ได้เข้าไปซื้อตราสารหนี้ใครเลย เพราะเรทติ้งไม่ดีกองทุนที่ ธปท. ตั้งขึ้นเข้าไปซื้อไม่ได้

เมื่อเครื่องยนต์เศรษฐกิจดับหมด ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว ซึ่งล้วนเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยจริงทรุดลงต่อเนื่อง

ยิ่งเศรษฐกิจไทยมาดื้อยา พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท หรือ พ.ร.ก. 1.9 ล้านล้านบาท เป็นยาผิดสูตร เป็นยาหมดอายุเร็ว ทำให้ช่วยรักษาเศรษฐกิจไทยไม่ได้ ดังนั้นการประมาณเศรษฐกิจไทยครั้งหน้าของ ธปท. น่าจะสร้างประวัติศาสตร์ต่ำที่สุดของประเทศอีกครั้ง