posttoday

วิ่ง สู้ ฟัด เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท

24 มิถุนายน 2563

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า มีหน่วยงานขอใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจกู้ 4 แสนล้านบาท มากถึง 1.36 ล้านล้านบาท หรือ มากกว่าเงินที่จะกู้กว่า 3 เท่า

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานความคืบหน้าการขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ในส่วน 4 แสนล้านบาท เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2563 มีหน่วยงานต่างเสนอโครงการใช้เงินรวมทุกแผนงาน จำนวน 43,851 โครงการ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นแผนงานโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากสุด มีสนอโครงการจำนวน 42,405 โครงการ ตามมาด้วย แผนงานเสนอโดยกระทรวง ทบวง กรมจำนวน 1,259 โครงการ ตามลำดับ ส่วนแผนงานมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว และแผนงานโครงการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ทาง สศช. ไม่ได้รายงานรายละเอียดไว้

สศช. ยอมรับเองว่า ข้อเสนอโครงการมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้การวิเคราะห์โครงการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ล่าช้าไป แต่เชื่อว่าจะสามารถวิเคราะห์เสร็จในเบื้องต้นภายในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ และสามารถส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาได้ทันในวันที่ 1 ก.ค. 2563 เพื่อนำส่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีเห็น (ครม.) ชอบตามกำหนดไว้ในวันพุธที่ 8 ก.ค. 2563 ต่อไป

เมื่อดูจากไทม์ไลน์การทำงานพิจารณาโครงการแล้ว เห็นความเป็นไม่ได้เลยว่า จะมีการกลั่นกรองโครงการเป็นหมื่นโครงการภายในเวลาไม่กี่วัน ให้เกิดความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่กู้มา คณะกรรมการจะมีเวลาอ่านรายละเอียดโครงการทั้งหมดกว่า 4 หมื่นโครงการ เป็นเม็ดเงิน 1.36 ล้านล้านบาท และเปรียบเทียบว่าโครงการไหนดีกว่ากัน มีความสำคัญกว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจกว่ากัน และใช้เงินกู้ได้คุ้มค่าไม่รั่วไหล ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่เป็นงบรั่วไหลระหว่างทาง ไม่เป็นงบจัดสรรที่มีใบสั่งจองไว้แล้ว ได้อย่างไร

ทั้งหมดเป็นปัญหาใหญ่ ที่ สศช. ในฐานะหัวเรือใหญ่ที่พิจารณาโครงการนี้ต้องรับผิดรับชอบ เพื่อไม่ให้สะเทือนไปถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอนเสนอ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ก็ถูกสับจนเละว่าเป็นการตีเช็คเปล่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

แม้ว่า สศช. จะบอกว่า ในช่วงก่อนที่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณานั้น สภาพัฒน์จะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ผ่านทางระบบ ThaiME (http://thaime.nesdc.go.th) เพื่อใช้ประกอบการกลั่นกรองโครงการต่อไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบและโปร่งใส ก็จะเจอปัญหาเหมือนเดิมว่าประชาชนที่ไหนจะเข้าไปตรรวจสอบรายละเอียดกว่า 4 หมื่นโครงการ ภายในเวลาที่เหลือไม่กี่วันได้อย่างไร

"สำหรับกรณีที่ภาคส่วนต่างๆ ยังมีความกังวลว่าบางข้อเสนอโครงการอาจมีความไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ขอยืนยันว่า คณะทำงานของสภาพัฒน์ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ประกอบด้วยนักวิชาการผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้วิเคราะห์โครงการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือการใช้เงินกู้นี้จะต้องตรงตามวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั่วถึงเที่ยงธรรม เน้นความคุ้มค่าและมีมาตรการป้องกันการทุจริต"

ข้อความข้างต้นเป็นสิ่งที่สภาพัฒน์ ยืนยันผ่านสื่อ ก็เป็นเรื่องที่พูดย้ำกันในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ค้างคาใจไม่มีวันหลบไปได้ เพราะการกู้เงินที่ตอกย้ำจากฝ่ายค้าน ฝ่านที่ไม่เห็นด้วยว่า การกู้เงิน 4 แสนล้านบาทเป็นงบแจก ส.ส. ทั่วหน้า โดยไม่ได้คำนึงว่าโครงการที่ดำเนินการนั้นมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงหรือไม่

นอกจากนี้การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยังถูกมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่า เป็นช่องทางให้การใช้เงินของประเทศเกิดการรั่วไหลระหว่างทางจำนวนมาก และไปถึงปลายทางเพียงน้อยนิด

สัปดาห์ที่ผ่านมา สศช. รายงานว่ามีขอการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท มากกว่า 8 แสนล้านบาท หรือ มากกว่า 2 เท่า ว่าน่าเหลือเชื่อแล้ว ผ่านไปอีกไม่ถึงสัปดาห์มีการขอเงินกู้มากถึง 1.36 ล้านล้านบาท หรือ มากกว่าเงินที่จะกู้กว่า 3 เท่า จึงไม่เป็นเรื่องไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

ขอกันมามากอย่างนี้ จนทำให้สังคมประชาชนตาดำๆ ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ และอดคิดไม่ได้ขอกันมาจนล้นจออย่างนี้ เป็นเพราะหน่วยงานอยากได้เงินไปทำโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจริงๆ หรือยัดโครงการมาเพื่อให้ได้เงินเท่านั้น โดยไม่สนว่าโครงการนั้นจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้หรือไม่