posttoday

ธปท.แจง12ข้อห้ามแบงก์จ่ายปันผล

23 มิถุนายน 2563

ธปท.แจงห้ามแบงก์จ่ายปันผล เป็นการแก้หนี้เสียแบงก์เชิงรุก ยันไม่ถึงวิกฤตต้มยำกุ้งที่หนี้เสียแบงก์สูงถึง50%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปคำถาม-คำตอบงาน Medai Briefing เรื่องมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ของ ธปท. โดย นายรณดล นุ่มนนท์. รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. และ นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. โดยมีการตอบข้อสังสัยมาตรการของ ธปท. ที่สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ไม่จ่ายเงินปันผล ไม่ให้ซื้อหุ้นคืน เพื่อคงเงินกองทุนระดับสูง รองรับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

1. เงินกองทุนฯ ที่มีตอนนี้ สามารถรองรับ NPLs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ขนาดไหน และมีความแข็งแกร่งพอจะรองรับความไม่แน่นอน หรือวิกฤตข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

ณ วันนี้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7 เป็นระดับที่ค่อนข้างสูง และน่าจะเพียงพอรองรับได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่เรียนว่าในภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา การประเมินสถานการณ์ที่ ธปท. ใช้ประเมินกองทุนก็อยู่ในสมมติฐานก่อนเกิดโควิด 19 สิ่งที่ต้องการเห็นต่อจากนี้คือ การประเมินเงินกองทุนภายใต้ภาวะโควิด 19 เพื่อจะดูว่ามีเงินกองทุนพอรองรับความไม่แน่นอนนั้นมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีเงินกองทุนที่เปรียบเหมือนภูมิคุ้มกัน ยิ่งมีเงินกองทุนมาก ก็เหมือนมีการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันให้สถาบันการเงินมาก ยิ่งทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังโควิด 19 และรองรับความไม่แน่นอน มีระดับเงินกองทุนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงิน เป็นแนวทางในระยะยาวของสถาบันการเงิน ระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ถ้ามีระดับเงินกองทุนมาก ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการป้องกันที่เกิดจากความไม่แน่นอน เช่น การกันสำรองเพิ่มขึ้นจากหนี้

ที่ผ่านมา ธปท. มุ่งเน้นทำมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไข ถ้ามีการป้องกัน (pre-emptive) ไว้ล่วงหน้าจะเป็นการช่วยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว

2. จากประกาศห้ามจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลทำให้หุ้นธนาคารร่วงหนักมาก ธปท. มองเรื่องนี้ว่าอย่างไร

ต้องพยายามอธิบายให้นักลงทุนและผู้ฝากเงินทราบว่า หนังสือเวียนฉบับนี้มุ่งหวังให้เสริมสร้างสภาพคล่องและเงินกองทุนให้ธนาคารในระยะยาว จะเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นต่อความไม่แน่นอนจากโควิด 19 ถ้านักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าจุดประสงค์ของ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยเห็นภาพว่าถ้าออกเป็นนโยบายกลาง มีทิศทางเดียวกัน แทนที่สถาบันการเงินจะทำเรื่องนี้โดยดำเนินนโยบายของแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามถึงความแตกต่างกันในการดำเนินนโยบาย

3. นักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นกลุ่มธนาคาร เมื่อข่าวออกไปก็มีผลกระทบต่อกลุ่มนี้ จะอธิบายอย่างไร

นักลงทุนต่างชาติน่าจะได้เห็นมาแล้วจากการออกมาตรการโดยธนาคารกลางในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EU, UK, Australia, Canada และ New Zealand นักลงทุนต่างชาติจึงไม่น่าจะแปลกใจกับนโยบายนี้ และคงเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ในระยะยาว

4. ธปท. มีความกังวลหรือไม่ว่า ถ้าคนไม่เข้าใจมาตรการนี้ จะมีการแห่ถอนเงินจากธนาคารหรือเปล่า

ไม่กังวล เพราะหากมีการสื่อสารมากพอให้ผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนเข้าใจจุดประสงค์ของนโยบาย วันนี้ฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินก็ยังมีความเข้มแข็งอยู่ เพียงแต่ ธปท. อยากเห็นรูปแบบ แนวทาง และแผนงานของสถาบันการเงิน โดยให้วางแผนเรื่องเงินกองทุนล่วงหน้า 2 – 3 ปี

5. ได้ประเมินระดับ NPLs สิ้นปีนี้แล้วหรือยัง BIS จะเป็นเท่าไหร่ และจะมีการให้สถาบันการเงินทำ Stress Test ภายใต้เงื่อนไขใหม่หรือไม่

ก่อนหน้านี้ได้ให้สถาบันการเงินทำ Stress Test ก่อนปลายปี 2562 ที่ไม่มีโควิด 19 แต่ตอนนี้ให้สถาบันการเงินทำ Stress Test และประเมินเงินกองทุน ภายใต้โควิด 19 จะออกมาภายในเดือนหน้า จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า NPLs เป็นเท่าไหร่ BIS ratio จะเป็นเท่าไหร่ ที่สำคัญคือสถาบันการเงินและ ธปท. ต้องทำมาตรการในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

6. ถ้าสถานการณ์โควิด 19 ไม่ดีขึ้น มีโอกาสงดการจ่ายปันผลทั้งปีหรือเปล่า

ยังตอบไม่ได้เพราะตอนนี้ที่เราเห็นชัดคือ เงินปันผลระหว่างกาลเป็นการจ่ายนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ได้รอคำนวณผลประกอบการทั้งปี สิ่งเห็นชัดคือ อย่าเพิ่งจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาล แต่ควรมาประเมินกองทุนก่อนว่าเป็นอย่างไร และคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เราให้ความสำคัญกับฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไม่เพียงเฉพาะผู้ลงทุน แต่เงินฝากของประชาชนก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูแล

7. มองว่า NPLs จะมากกว่าวิกฤตปี 2540 หรือเปล่า

แตกต่างกัน เพราะปี 2540 เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค มีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ ตลาดอสังหาฯ โตเกินระดับเศรษฐกิจ ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดกระจายในวงกว้าง ไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจมหภาคหรือเงินทุนที่มาจากต่างประเทศ แต่เราได้รับบทเรียนมาจากปี 2540 จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ลุกลามไปจนแก้ไขไม่ได้ ปี 2540 ระดับหนี้เสียเป็น 50% ของสินเชื่อทั้งหมด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีมาตรการในเชิงรุก บทเรียนจากตอนนั้นทำให้เรามีการทำมาตรการป้องกันในเชิงรุก ที่สำคัญคือ ต้องเร่งให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพและได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เป็นมาตรการที่ ธปท. ออกมาตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น การสำรองของสถาบันการเงินก็จะน้อยลง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้

8. อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ร้อยละ 18.7 สามารถรองรับ NPL 50% ของสินเชื่อทั้งระบบได้หรือไม่

ณ วันนี้ระดับเงินกองทุน BIS Ratio อยู่ที่ 18.7 ประกอบกับการเร่งดำเนินมาตรการที่ ธปท. และธนาคารต่าง ๆ ได้เห็นร่วมกันในเรื่อง มาตรการเชิงป้องกัน (pre-emptive) จะเป็นสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างปี 2540 เชื่อว่าเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

9. ปัจจุบันมี NPLs ถึงครึ่งหนึ่งหรือเปล่า

ปัจจุบัน NPLs ไม่ถึงครึ่ง และหวังว่าการทำมาตรการเชิงรุกจะไม่ทำให้เงินกองทุนไปถึงจุดนั้น แต่อย่างที่พูดถึงในหนังสือเวียนฉบับนี้คือ ต้องมีการประเมิน Stress Test ว่าลูกหนี้แต่ละธนาคารจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50 ปัจจุบันแนวทางนโยบายของเราเป็นการป้องกัน ถ้าเงินกองทุนลดลงไประดับหนึ่ง เราจะมีมาตรการดูแลเป็นระดับไป ไม่ปล่อยลงไปต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วค่อยกลับมาแก้ไข เรื่องการกันสำรองก็เช่นกัน ถ้าเห็นว่าลูกหนี้มีปัญหาก็จะหารือกับสถาบันการเงินเรื่องการตั้งกันสำรองล่วงหน้า ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้เสียแล้วจึงกันสำรอง ซึ่งจะกระทบต่อกำไรและเงินกองทุนของธนาคาร

10. สถานการณ์ตอนนี้ทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อยากกว่าเดิม

สถานการณ์ขณะนี้พบว่า ระดับเงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 18.7 นี้ สถาบันการเงินยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้ แต่การดำเนินงานของสถาบันการเงิน คือ การนำเอาเงินฝากของประชาชนไปปล่อยสินเชื่อ จึงต้องมั่นใจว่าลูกหนี้ที่จะนำสินเชื่อไปปล่อยต้องเป็นสินเชื่อที่มีศักยภาพอยู่ ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หลังช่วงโควิด 19 ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์คือการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ถ้าลูกหนี้มีศักยภาพ ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้

11. ทางการจะเข้าไปดูแลหรือเปล่า

คงยังไม่ถึงกับทางการเข้าไปดูแล คงต้องหารือร่วมกันว่าจะมีวิธีเพิ่มเงินกองทุนได้อย่างไร มีแผน 2 – 3 ปีข้างหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้า Stress Test ออกมาต่ำกว่าที่ตั้งไว้จะมีแผนเสริมสร้างเงินกองทุนอย่างไร ไม่อยากให้มีการดำเนินการทางกฎหมายหรือสร้างกฎเกณฑ์ ในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ การให้นโยบายเรื่องการระดมเงินกองทุนที่ชัดเจนขึ้น

12. สถาบันการเงินจะส่งแผนให้เมื่อใด

ประมาณปลายเดือนหน้า ส่วนเรื่องสมมติฐานก็มีการหารือกันอยู่ สมมติฐานแต่ละธนาคารต้องตั้งขึ้นมาเองเพราะมีความเสี่ยงและลักษณะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน ภายในสิ้นเดือนหน้าคาดว่าคงจะเห็นภาพของ Stress Test หลังจากนั้นคงต้องมาคุยกันว่าจะมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร