posttoday

กฎเหล็กแบงก์ชาติ สะเทือนแบงก์พาณิชย์อาการสาหัส

21 มิถุนายน 2563

การสั่งห้ามแบงก์พาณิชย์จ่ายเงินปันและซื้อหุ้นคืน เพราะกลัวหนี้เสียพุ่งเงินกองทุนทรุดจากพิษโควิด ทำให้กิจการแบงก์เกิดความเปาะบางในระยะสั้นทันที

การออกคำสั่งของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผล และห้ามซื้อหุ้นคืน ถูกวิจารณ์จากสังคมอย่างหนักว่า เป็นความประสงค์ดีที่อาจจะกลายเป็นผลร้ายกับการดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์อยู่ในวิกฤตครั้งใหม่ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินและเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540

ในหนังสือคำสั่งที่ธปท. นำออกมาแถลงเป็นข่าวเมื่อวันศุกร์ 19 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าอ่านแล้วตีความเป็นไปอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากฐานะกิจการของธนาคารพาณิชย์ อยู่ในฐานะที่กำลังมีปัญหาหนี้เสียในอนาคตเพิ่มขึ้นทวีคุณ จนต้องตั้งสำรองจนเงินกองทุนลดต่ำลงจะฐานะของธนาคารมีปัญหา

การที่ ธปท. จงใจปล่อยข่าวแถลงดังกล่าวในเย็นวันศุกร์หลังตลาดหุ้นปิดไปแล้ว เพราะรู้ดีว่าการดำเนินการเช่นนี้ จะกระทบกับราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์อย่างหนัก จึงต้องการให้ข่าวนี้ทอดเวลาออกไปเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้นักลงทุนไตร่ตรองว่า มาตรการที่ออกมาดีกับธนาคารพาณิชย์ในระยาว เพื่อที่จะไม่เทขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ในวันจันทร์ (22 มิ.ย.) ซึ่งอีกไม่นานก็จะรู้ว่า ธปท. ประเมินเรื่องนี้ได้ถูกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังจาก ธปท. ออกข่าวคุมแบงก์พาณิชย์ไม่ให้จ่ายปันผล ไม่ให้ซื้อหุ้นคืน และให้ทำแผนการบริหารเงินกองทุนในระยะ 1-3 ปี ส่งให้ ทั้งฝ่ายการเมือง ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เจ้าของผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ เกิดความปั่นปวนอย่างหนัก และไม่เข้าใจว่าทำไม่ ธปท. จึงแก้ปัญหาที่แสนอ่อนไหวอย่างนี้ผ่านสื่อได้อย่างไร

ในวันที่ 20 มิ.ย. นายวิไท ได้ออกแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้ยาว 3 หน้าดาษอีกครั้ง ว่าสาเหตุที่ ธปท.ห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืน เพราะธนาคารพาณิชย์การ์ดตก เงินกองทุนทรุด เพราะผลกระทบโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจโลกและไทยรุนแรง ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจะจบอย่างไร แม้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 18.7%

เมื่อพิจารณาจาก การชี้แจงของ ผู้ว่า ธปท. แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่วันนี้ไปธนาคารพาณิชย์จะเจอมรสุมหนี้เสียครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะตั้งรับไม่ไหวหากไม่ดำเนินการเตรียมตัวไว้ก่อน

ธปท. แถลงฐานะของ ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 4.96 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.05% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.98% เห็นได้ว่าไตรมาสแรกไทยยังเพิ่งเริ่มเจอพิษโควิดหนี้เสียก็เริ่มงอกแล้ว ไม่ต้องคิดถึงงไตรมาส 2 3 และ 4 ที่เศรษฐกิจไทยเจอพิษโควิดเต็มแรง กิจกรรมการทางเศรษฐกิจหยุดนิ่งสนิท คนตกงานหลายล้านคน หนี้เสียของธนาคารพาริชย์จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณขนาดไหน

ยังไม่รวมกับโครงการพักชำระหนี้ที่ ธปท. ให้ ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการ โดยมีการโชว์ผลงานว่าพักหนี้ได้ 13.08 ล้านราย วงเงิน 4.6 ล้านล้านบาท เป็นรายย่อย 13.01 ล้านราย จำนวนเงิน 3.4 ล้านล้านบาท และธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี 6.8 หมื่นราย วงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท หนี้จำนวนนี้เมื่อครบพักชำระหนี้แลต้องกลับผ่อนชำระปกติ จะมีจำนวนหนึ่งชำระต่อไม่ได้กลายเป็นหนี้เเสีย แค่คิดว่าใน 4.6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 10% ก็ 4.6 แสน้านบาท รวมกับหนี้เสียเดิมไตรมาส 1 ที่ผ่านมา หนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือ ประมาณ 1 ล้านล้านบาททันที

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ ที่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ เข้าไปพักชำระหนี้ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางหนึ่งเป็นการช่วยลูกหนี้ แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยต่อลมหายใจธนาคารพาณิชย์กลบลูกหนี้เสียไม่ให้โผล่ขึ้นมาหลอนเผาเงินกองทุนของแบงก์จนทรุดเอาไม่อยู่ อย่างที่ ธปท. กลัวจนออกประกาศคุมธนาคารพาณิชย์ไม่ให้จ่ายเงินปันผลและไม่ให้ซื้อหุ้นคืน เพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินกองทุนมาพอจะไปสำรองหนี้เสียที่เกิดขึ้นจำนวนมากในอนาคต

ดังนั้นกฎเหล็กสะท้านแบงก์พาณิชย์ ที่ ธปท. ออกมาจะช่วยพยุงฐานะธนาคารพาณิชย์ให้ดีขึ้น หรือ ทำให้ฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์เกิดความปั่นป่วน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ ธปท. ต้องรับผิดรับชอบ ในการตัดสินใจครั้งนี้