posttoday

กู้4แสนล้าน ฟื้นฟู (ซ้ำเติม) เศรษฐกิจ

16 มิถุนายน 2563

การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถูกวิจารณ์เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจมากกว่าฟื้นฟู

การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ถูกมองว่าเป็นงบแจก ส.ส. ได้กันทั่วหน้า โดยไม่ได้คำนึงว่าโครงการที่ดำเนินการนั้นมีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงหรือไม่

นอกจากนี้การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยังถูกมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่า เป็นช่องทางให้การใช้เงินของประเทศเกิดการรั่วไหลระหว่างทางจำนวนมาก และไปถึงปลายทางเพียงน้อยนิด

เรื่องดังกล่าวถูกโจมตีจากฝ่ายค้านอย่างหนัก จนรัฐบาลต้องยอมตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อร่วมกันตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดการรั้วไหลระหว่างทางให้น้อยที่สุด

การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหัวใหญ่ในการพิจารณาโครงการ ตามที่หน่วยงานต่างๆ เสนอเข้ามา

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 เป็นวันสุดท้ายที่ให้หน่วยงานเสนอโครงการ และ สศช. ได้รายงานไว้บน http://nscr.nesdc.go.th/thaime/ มีการเสนอโครงการมาถึง 34,263 โครงการ มีมูลค่า 841,269 แสนล้านบาท มากกว่าเงินกู้ถึง 2 เท่า โดยโครงการที่เสนอมามีตั้งแต่โครงการหลักหมื่นบาท ไปจนถึงโครงการหลัก 1 แสนล้านบาท

ตามไทมไลน์ สศช. จะคัดกรองโครงการชุดแรกเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 7 ก.ค. 2563 ซึ่งเหลือเวลาไม่ถึงเดือน ก็ถูกตั้งคำถามว่า จะเลือกสรรโครงการเป็นหมื่นโครงการ ขอมามากกว่าเงินกู้ 2 เท่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

นอกจากนี้ จะมีการเก็บตกโครงการรอบสอง เพื่อส่งให้ ครม. เห็นชอบในเดือน มิ.ย. 2563 ก็ถูกมองว่าเป็นการเก็บตกโครงการให้ ส.ส. ที่ไม่ได้โครงการรอบแรก

เมื่อเป็นเช่นนี้ การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถูกตรวจสอบอย่างหนัก จากทั้งฝ่ายค้าน ภาคสังคม เพื่อไม่ให้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ กลายเป็นเป็นงบซ้ำเติมเศรษฐกิจ

เรื่องเงินกู้เป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีอย่างมาก การกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก 6 แสนล้านบาท ใช้เพื่อการเยียวยา ประกอบด้วย 2 โครงการที่สำคัญ ได้แก่

1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการอนุมัติวงเงิน ทั้งที่น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน

2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร 5,000 บาท 3 เดือน และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท เป็นวงเงินที่อนุมัติแล้ว 3.2 แสนล้านบาท กลายเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จล้มเหลว เพราะแจกเงินจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังถูกต่อว่ายังช่วยเหลือได้ไม่ทั่งถึง คนเดือดร้อนจริงไม่ได้ คนไม่เดิอนร้อนจริงกลับได้เงิน

สำหรับเงินกู้ส่วนที่สอง 4 แสนล้านบาท ที่ใช้ในแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึงวันนี้มีโครงการ 34,263 โครงการ มีมูลค่า 841,269 แสนล้านบาท มากกว่าเงินกู้ถึง 2 เท่า จอคอหอยรัฐบาลอยู่ว่า เงินกู้นี้จะเป็นงบฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่