posttoday

ค่าเงินบาทผันผวนแนะป้องกันความเสี่ยง

16 มิถุนายน 2563

คาดเงินบาทผันผวนสูง แนะผู้ประกอบการประกันความเสี่ยงค่าเงิน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.75-31.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.97 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ในตลาดโลกและการเร่งขายเพื่อลดการขาดทุนหลังเงินบาททะลุแนวต้าน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2.2 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 8.2 พันล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์ฟื้นตัวเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่หลังอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงกรอบเป้าหมายดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมทั้งส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะเติบโต 5.0% ในปี 2564 โดยเฟดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ใกล้ระดับ 0% ต่อไปจนถึงปี 2565

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าจุดสนใจยังคงอยู่ที่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนาและผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งปรับฐานลงมาแรงในสัปดาห์ก่อนจากการที่เฟดประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจาก COVID-19 จะใช้เวลายาวนาน และเฟดมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง ส่วนประธานเฟดเปิดช่องไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและอาจใช้มาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) หากมีความจำเป็นรวมถึงเน้นย้ำว่าในเวลานี้ เฟดไม่นึกถึงการพิจารณาเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงให้คำมั่นว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในอัตราปัจจุบันที่ราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนและเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองและหลักทรัพย์ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในอัตรา 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมเรื่อง Brexit ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร, การแถลงนโยบายของประธานเฟดต่อสภา, การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี)

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทอยู่ในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในเดือนมิถุนายนแต่ยังไม่มาก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของตลาดการเงินอาจส่งผลให้ค่าเงินผันผวนผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยง (Hedging) อนึ่ง เราคาดว่าในช่วงนี้เงินบาทอาจพักฐานก่อนจะกลับมาแข็งค่าในระยะยาวจากการดำเนินนโยบายของเฟดเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ความผันผวนอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะ