posttoday

หนี้ประเทศไทยทะลุ7ล้านล้านบาท

15 มิถุนายน 2563

พูดถึงเรื่องหนี้ เรื่องเงินกู้เงินของประเทศตอนนี้ เป็นของแสลงของคนทั้งประเทศ และเป็นเหมือนหอกทิ่มแทงรัฐบาลในทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดธนาคารแห่งประะเทศไทย (ธปท.) ต้องรีบออกมาชี้แจงการนำตัวเลขหนี้สินของ ธปท. มูลค่า 6 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษีในระยะต่อไป นั้นเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

ธปท. ชี้แจงว่า รายงานงบการเงินของ ธปท. ผลขาดทุนของ ธปท. เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง เช่น เมื่อระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกิน ธปท. จะออกตราสารหนี้ เพื่อดูดซับสภาพคล่องเข้ามาเก็บไว้ที่ ธปท. และการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้น หนี้สินที่ปรากฏจะมีรายการคู่ขนานที่เป็นด้านสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าการดำเนินงานของ ธปท. จะมีผลขาดทุนเกือบ 1 ล้านล้านบาท ก็เป็นผลขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าผลขาดทุนก็จะเพิ่มขึ้น และหากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงผลขาดทุนจะลดลงเช่นกัน

ดังนั้น หนี้สินในงบการเงินของ ธปท. เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ แต่เกิดจากการดำเนินงานตามภารกิจของธนาคารกลาง ที่สะท้อนกิจกรรมในการบริหารสภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศ

เมื่อหนี้ของ ธปท. 6 ล้านล้านบาท ไม่ใช่หนี้ของประเทศ ไม่เป็นภาระภาษี ทำให้ต้องมาตรวจสอบกันว่าหนี้ของประเทศจริงๆ ที่เป็นภาระของภาษีมีจำนวนเท่าไร และมีแนวโน้มอย่างไร

เว็บไซต์สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานหนี้สาธารณะของประเทศล่าสุดเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ 7.1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 42% ของจีดีพี ซึ่งจะเห็นว่ามากกว่าหนี้ของ ธปท. ที่มีความเข้าใจผิด

สาเหตุหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งต้องกู้เงินมาใช้เพื่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน เมื่อยู่บริหารประเทศนานกว่ารัฐบาลอื่น ก็หนีไม่พ้นว่าเป็นรัฐบาลที่กู้มากกว่ารัฐบาลอื่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึง งบประมาณ 2563 มีการทำงบประมาณแบบขาดดุลต้องกู้เงินรวมกันทุกปีถึง 2 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมกับงบประมาณ 2564 ที่เป็นงบประมาณแบบขาดดุลต้องกู้เงินกว่าอีก 5 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ ยังมีหนี้ก้อนโตจากการ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้ผลกระทบจากโควิด -19 ที่เริ่มกู้กันแล้วจนถึงปีงบประมาณ 2564 โดย สบน. ประเมินว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 51% ของจีดีพี และสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 58% ของจีดีพี ภายใต้เศรษฐกิจขยายตัว 3-4% ซึ่งยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนการคลัง 60% ของจีดีพี

เมื่อดูจากข้อเท็จจริงเศรษฐกิจปี 2563 มีโอกาสขยายตัวติดลบใกล้ 10% และในปี 2564 จะฟื้นตัวขยายตัวกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ส่งผลกระทบทำให้หนี้สาธารณะมีความเสี่ยงที่จะเกิน 60% ของจีดีพี

สัดส่วนหนี้ดังกล่าว ยังไม่สำคัญเท่ากับภาระการชำระหนี้ต่อเงินงบประมาณรายจ่ายต้องไม่เกิน 15% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% หากคิดว่างบประมาณรายจ่าของประเทศปัจจุบันอยู่ที่กลมๆ 3 ล้านล้านบาท ต่อปี ก็ต้องนำเงินงบประมาณมาใช้หนี้ของประเทศ 3 แสนล้านบาทต่อปี

ที่สำคัญกว่านั้น ที่ทุกคนในประเทศควรรับรู้คือ ใน 10% ที่ใช้หนี้ มีเพียง 3% หรือ 9 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่ใช้ชำระเงินต้น ที่เหลือ 7% หรือประมาณ 2.1 แสนล้านบาท ใช้จ่ายชำระดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นอย่างนี้มาทุกรัฐบาล ทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะกู้มากใช้น้อย

และจากแผนการกู้ของประเทศ ทั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านบาท และงบขาดดุลปีงบประมาณ 2564 อีกกว่า 5 แสนล้านบาท ทำให้สิ้นปีงบประมาณ 2564 หนี้ของประเทศจะทะลุมากกว่า 8 ล้านล้านบาท อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ทุกคนในประเทศต้องรับรู้ว่าเงินที่รัฐบาลกู้มาแจกเยียวยา หรือ กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นภาระของทุกคนในประเทศในอนาคตอีกนานนับหลายปี และจะเห็นว่าการจ่ายดอกเบี้ยของประเทศไม่กี่ปีก็จะท่วมเงินต้น เพราะจ่ายเงินต้นได้น้อยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้หนี้สาธารณะของประเทศ จึงเป็นความเสี่ยงของประเทศและเป็นภาระของประชาชนทุกคน