posttoday

การเมืองร้อน ซ้ำเศรษฐกิจเพิ่ม

09 มิถุนายน 2563

ลำพังแค่ปัญหาโควิด-19 ทำเศรษฐกิจทรุดติดลบแสนสาหัสแล้ว ยังมาเจอมรสุมการเมืองชิงพรรค ชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยระส่ำเพิ่มมากขึ้นไปอีก

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ รายงานเเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ขยายตัวติดลบ 1.8% และทั้งปีจะขยายตัวติดลบ 5-6% มีค่ากลางอยู่ที่ลบ 5.5% อยู่ภายเงื่อนไขโดยโควิดระบาดไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้ หากปัจจัยเปลี่ยนไปจากนี้ อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยลบมากหรือน้อยกว่านี้ได้

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 8.8% และยังต้องจับตาคลายล็อคดาวน์ที่อาจนำมาสู่การระบาดซ้ำ ซึ่งหากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกอีกครั้งอาจฉุดให้จีดีพีไทยปี 2563 หดตัวได้มากถึง 11.7%

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ปรับการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 2563 ลงจากติดลบ 6.4% เป็นติดลบ 8.9% โดย ไตรมาส 2 มีโอกาสขยายตัวติดลบถึง 14% วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้อาจเลวร้ายที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญ รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2541 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 7.63% (ไตรมาส 2 ขยายตัวติดลบ 12.53%)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวลึกขึ้นจากเดิมขยายตัวติดลบ 5% มาเป็นติดลบ 6% ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2563 อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปรับประมาณการการหดตัวลงเป็น -4.0% ต่ำสุดในรอบ 90 ปี

ทั้งนี้ EIC ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวมากกว่าที่คาดจากติดลบ 5.6% เป็นติเลบ 7.3% จากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่ง EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในลักษณะ U shape โดย GDP จะกลับไปสู่ระดับของปี 2562 ซึ่งเป็นระดับเดิมก่อนเกิด COVID-19 ได้ในปี 2565

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 0.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประมาณไว้ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบ 5.3%

ทั้งหมดจะเห็นว่า ผลกระทบโควิดทำเศรษฐกิจไทยทรุดหนักแสนสาหัส ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป เงินเฟ้อไทยติดลบต่อเนื่อง จนทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ขณะที่เงินกู้จาก พ.ร.ก. กุ้เงิน 1 ล้านล้านบาท ไม่ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจแต่อย่างไร ทำได้แค่เยียวยาความเดือดร้อนให้ผู้ได้ผลกระทบโควิดได้ช่วงสั้นๆ ขณะที่เงินก้อน 4 แสนล้านบาท ที่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นงบแจกให้ ส.ส. ทำโครงการหาเสียงเป็นเบี้ยหัวแตก

ล่าสุดปัญหาการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วงแตก แย่งชิงหัวหน้าพรรค เพื่อไปสู่การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป้าใหญ่คือการล้างทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันทั้งชุด ทำให้เศรษฐกิจไทยป่วนมากขึ้น

เมื่อการเมืองไม่นิ่ง ทีมเศรษฐกิจอนาคตยังไม่เห็นภาพว่าเป็นใคร การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้มีมากมีดีขนาดไหนก็ไม่มีความหมาย เพราะการเมืองและเศรษฐกิจแยกกันไม่ออก เมื่อการเมืองป่วนไม่เลิกเศรษฐกิจไทยก็พังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเท่านั้น