posttoday

คลังแจงสภากู้1ล้านล้านไม่กระทบวินัยการคลัง

31 พฤษภาคม 2563

คลังแจงสภา บริษัทกู้เงินซอฟท์โลนไปซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไม่ได้

นางแพตริเซีย มงคลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ได้รับมอบหมายจากนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้ชี้แจงรายละเอียดการกู้เงินของ สบน. เนื่องจากมีสมาชิกกังวลว่าการกู้เงินไม่มีรายละเอียด ไม่มีวิธีการกู้และก็ไม่มีความโปร่งใส ซึ่ง สบน. ก็ย้ำว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้กู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมด

ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ สบน. จะกู้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะต้องเป็นโครงการที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเท่านั้น ตามข้อเสนอของประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งต้องมีรายละเอียดของการใช้เงินรายเดือนประกอบมาด้วย ซึ่งการเสนอ ครม.ทุกครั้ง กระทรวงการคลังได้เน้นย้ำว่าต้องให้เวลากระทรวงการคลัง 15 วัน ในการจัดหาเงินกู้ให้

สำหรับการวางแผนการกู้เงินนั้น สบน. จะบริหารการกู้เงินตามเครื่องมือที่เหมาะสมแต่ละช่วงเวลาของความต้องการใช้เงินกู้ ดังเช่นที่ผ่านมามีการกู้เงินไปแล้ว 3 ครั้ง ผ่านสถาบันการเงิน โดยการแจ้งการขอกู้ไปยังสถาบันการเงิน 31 แห่ง ที่จะประมูลให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุด โดยกระทรวงการคลังจะเลือกจากดอกเบี้ยต่ำที่สุดจนครบวงเงินกู้ และต้องมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นการกู้เงินทุกครั้งสามารถดูได้จากราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีรายละเอียดการกู้ทั้งหมดในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้มีการกันวงเงิน 3.95 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีการกู้เงินไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาท อีก 5 หมื่นล้านบาท เป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นเราไม่ทิ้งกันขายให้ประชาชน โดยขายให้ผู้สูงอายุก่อนซึ่งได้รับความสนใจจำนวนมาก จนมียอดเหลือขายให้ประชาชนทั่วไปได้เพียงครึ่งวันก็หมด

"ตามที่ท่านสมาชิกเข้าใจว่า มีบริษัทไปขอสินเชื่อซอฟท์โลน์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านธนาคารพาณิชย์ และนำมาซื้่อพันธบัตรออมทรัพย์เราไม่ทิ้งกันนั้น ไม่สามารถทำได้" นางแพตริเซีย กล่าว

นางแพตริเซีย ยังชี้แจงสภาว่า ประเทศไทยมีการบริหารหนี้สาธารณะที่ดี มีวินัยด้านหนี้สาธารณะดีมาก ดังนั้นการกู้เงินตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท ไม่ได้เกินวินัยการเงินการคลังภาครัฐ และยังอยู่ในระดับสามารถบริหารจัดการได้