posttoday

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิ.ย. ดีขึ้น

30 พฤษภาคม 2563

ธ.ก.ส. คาด ราคา ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม เดือน มิ.ย. มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2563 โดยสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 16,084-16,159 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68- 1.15 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อจากประเทศจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 10.59-10.90 เซนต์/ปอนด์ (7.46-7.68 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อราคาเอทานอล และลดแรงกระตุ้นสำหรับโรงงานของบราซิลในการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 35.25–35.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.54 – 1.50 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 2.69-2.74 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.37 – 2.24 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและในภาคอุตสาหกรรม สุกร ราคาอยู่ที่ 67.69 – 68.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.17–2.50 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ระยะที่ 2 อนุญาตให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง และเปิดจุดผ่านแดนถาวรตามชายแดน ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้น และ กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 136.00 – 138.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.00 – 1.47 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจบางกลุ่มสามารถกลับมาเปิดทำการได้ อาทิ ร้านอาหาร และความต้องการกุ้งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตกุ้งของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคากุ้งมีแนวโน้มสูงขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 9,325-9,389 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.67-1.34 และข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,634-14,660 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.15-1.33 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ได้แก่ เวียดนาม และอินเดีย เริ่มมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรอดูสถานการณ์ราคาและมีแนวโน้มเสนอราคารับซื้อลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น ไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.52-7.56 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.00 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน (เก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป) ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.62-1.67 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 3.57 เนื่องจากคุณภาพมันสำปะหลังที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้มี เชื้อแป้งต่ำ เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลทำให้ราคาให้ปรับตัวลดลง