posttoday

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดพรุ่งนี้กนง.ลดดอกเบี้ยเหลือ0.5%

19 พฤษภาคม 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ประชุม กนง. 20 พ.ค. 63 ปรับลดดอกเบี้ยลง เหลือ 0.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 พ.ค. นี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.50% ตามภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และคาดว่าอาจหดตัวราว 5.0% ในปีนี้ ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน กนง. จึงน่าจะให้น้ำหนักกับเป้าหมายด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องอื่นๆ ซึ่งนโยบายเหล่านี้น่าจะช่วยลดภาระทางการเงินของธุรกิจให้ประคองตัวผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้

นอกจากนี้ จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ติดลบ 2 เดือนติดต่อกันในเดือนมี.ค. และเม.ย. ท่ามกลางแรงกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแรงลงจากรายได้ครัวเรือนที่ลดลง และภาวะว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยในปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ -0.5% ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รวมถึงอาจจะมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอื่นๆ เพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้แล้ว กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.5% ตลอดในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเรื่องการแพร่ระบาดของโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางที่สามารถควบคุมได้ และหากไม่มีการระบาดซ้ำอีกระลอก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวก ส่งผลให้ กนง. อาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มเข้าใกล้ศูนย์จะส่งผลให้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) มีจำกัด รวมถึงประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายที่ลดลง ขณะที่มาตรการทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด และช่วยประคองเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายทางการเงินแบบ Unconventional เช่น มาตรการดูแลสภาพคล่องเฉพาะจุด ก็ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ หากมีความจำเป็นเพิ่มเติม