posttoday

ธปท.แจงผ่านศูนย์โควิดเร่งช่วยลูกหนี้ได้รับผลกระทบ

18 พฤษภาคม 2563

ธปท.แจงผ่านศูนย์โควิดเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้และปล่อยกู้ซอฟท์โลน์ ให้เอสเอ็มอี

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 ว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจและระบบการเงินของไทยอย่างมาก ซึ่ง ธปท. ไม่ได้นิ่งเฉยได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 2 มาตรการสำคัญ

มาตรการที่ 1 เป็นมาตรการช่วยเหลือตรงลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ธปท. ได้รับร่วมความร่วมมืออย่างดีจากสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และนอนแบงก์ ช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น ชะลอพักเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน

ในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิต ได้ผ่อนผันการชำระสินเชื่อขั้นต่ำจาก 10% ให้เหลือ 5% ของหนี้ที่ค้างชำระ ส่วนเงินคงค้างที่เหลือจะมีการขยายเวลาผ่อนเป็น 48 เดือน รวมถึงมีการลดดอก 18% เหลือ 12%

ขณะที่สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเงินสดหมุนเวียน มีการขยายเวลาผ่อน 48 เดือน ลดดอกเบี้ยลงเหลือ 22% และพักเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 3 เดือน เป็นต้น ส่วนสินเชื่ออื่น ๆ ก็มีการพักเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงขยายเวลาผ่อนชำระ และลดค่างวด ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยกลุ่มนี้

ธปท.แจงผ่านศูนย์โควิดเร่งช่วยลูกหนี้ได้รับผลกระทบ

ข้อมูลล่าสุด พบว่า มีการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้แล้ว 13.08 ล้านราย วงเงิน 4.6 ล้านล้านบาท เป็นรายย่อย 13.01 ล้านราย จำนวนเงิน 3.4 ล้านล้านบาท และธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี 6.8 หมื่นราย วงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท แม้การช่วยเหลือจะอยู่ในวงการ แต่ ธปท. ตระหนักว่าการช่วยเหลือนี้เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะเป็นการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3-6 เดือนเท่านั้น แต่สิ่งที่ ธปท. อยากเป็นจากสถาบันการเงินคือ การเข้าไปช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลูกหนี้จะมีในช่วงนี้ที่มีผลกระทบจากโควิด-19 หมายความว่า การปรับโครงสร้างหนี้ต้องคำนึงถึงรายได้ที่จะได้รับจากลูกหนี้ในช่วงต่อจากนี้ไป การปรับโครงสร้างหนี้จะเกี่ยวข้องกับการลดดอกเบี้ย การยืดเวลาชำระหนี้ และการลดค่างวด หลังจากนี้ ธปท. จะร่วมมือกับสถาบันการเงินในการดูแล เจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด

นอกจากนี้ ธปท. มีมาตรการดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ เริ่มมาตั้งแต่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาปรากฏว่าเวลาลูกหนี้มีดอกเบี้ยผิดชำระ วิธีการคำนวณของแบงก์ก็จะคำนวณจากยอดเงินต้นคงเหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะค้างชำระกี่งวด ก็จะนำเงินต้นที่ค้างชำระทั้งหมดมาคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ซึ่งตรงนี้ ธปท. เห็นว่าไม่น่าจะเป็นธรรม เพราะดอกค่อนข้างสูง ดังนั้นตั้งแต่ 1 พ.ค. ได้มีการกำหนดวิธีการคำนวณดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ใหม่ โดยให้คำนวณเฉพาะเงินต้นในงวดที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ไม่ให้เอาเงินต้นที่คงเหลือทั้งหมดมาคำนวณ จะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลงอย่างมาก เป็นมาตรการหนึ่งที่ต้องการดูแลลูกหนี้โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลกระทบในช่วงโควิด-19 และให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้

มาตรการที่ 2 เกี่ยวกับซอฟท์โลน เพิ่งออกมาปลายเดือนที่แล้ว มาตรการมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการผ่อนมาตรการต่าง ๆ มาตรการเสริมสภาพคล่องในการนำเงินมาใช้ซื้อวัตถุดิบจะมีความจำเป็น การจ้างงาน วงเงิน 5 แสนล้านบาท

มาตรการนี้ การอนุมัติซอฟท์โลน จะทำในการให้สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยถูก เพียง 2% ระยะเวลานาน 2 ปี และไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก รวมทั้งจะไม่มีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ได้กำชับสถาบันการเงินว่าซอฟท์โลนจะไม่มีค่าธรรมเนียมทุกประเภท รวมถึงการขายพ่วงประกัน เป็นสิ่งที่ให้ความชัดเจนเรื่องการดำเนินการปล่อยกู้ซอฟท์โลนจากสถาบันการเงิน

มาตรการที่เกี่ยวข้องกับซอฟท์โลน คือ มาตรการชะลอการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนโดยอัตโนมัติ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ และไม่เสียประวัติ

นายรณดล กล่าวว่า คุณสมบัติกู้ซอฟท์โลน 4 ข้อ 1.ต้องเป็นลูกหนี้ทีประกอบธุรกิจในประเทศไทย 2. ต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3. ต้องไม่เป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และ 4. ต้องมีวงเงินกู้กับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ถ้าเข้า 4 ข้อสามารถยื่นขอซอฟท์โลนจากสถาบันการเงินได้

ล่าสุดวันนี้ มาตรการซอฟท์โลน มีผู้เข้ามายื่นแล้ว 4.93 หมื่นล้านบาท โดยเป็นจำนวนลูกหนี้ 2.86 หมื่นราย คิดเป็นสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อราย มีการกระจายตัวดี 72% เป็นธุรกิจขนาดเล้กวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ธุรกิจค้าส่ง ค่าปลีก 49% กระจายตัวตามต่างจังหวัดเป็นอย่างดีในมิติต่างๆ

"มาตรการนี้มี 5 แสนล้านบาท รวม 4.9 หมื่นที่ออกไปแล้ว ซอฟท์โลนออมสินออกไปแล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1 แสนกว่าล้านบาท ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังต้องการสินเชื่อซอฟท์โลน ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ได้ดำเนินการควบคู่ไป คือ ได้กำชับสถาบันการเงิน โดยพาะสถาบันการเงินที่มีโครงสร้างลูกหนี้เอสเอ็มอีขนาดใหญ่ให้เร่งติดต่อลูกค้าเพื่อยื่นเอสเอ็มอี และประสานงานกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาหอ สภาอุต ในการเร่งให้สมาชิกของสมาคมเข้ามายื่นขอซอฟท์โลนจากสถาบันการเงิน" นายรณดล กล่าว

ธปท.แจงผ่านศูนย์โควิดเร่งช่วยลูกหนี้ได้รับผลกระทบ

นายรณดล กล่าวว่า แบงก์ชาติเพิ่งเปิดตัวเว็บไซด์ BOT COVID-19 เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลมาตรการช่วยเหลือจากทุกสถาบันการเงิน ให้สามารถค้นหา เปรียบเทียบ ศึกษาเงื่อนไขของมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนสามารถที่จะดูรายละเอียดของสถาบันการเงินว่ามีมาตรการอะไรที่เกี่ยวข้อง และสามารถเข้าไปติดต่อกับสถาบันการเงินโดยตรง

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ หากประชาชนโดยเฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร ประชาชนสามารถติดต่อสถาบันการเงิน หรือติดต่อศูนย์ ศคง. เบอร์ 1213 ในเวลาราชการ และมีช่องทาง คือ ทางด่วนแก้หนี้ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและเข้าไปกรอกข้อมูลของท่าน และทางด่วนนี้จะส่งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินเพื่อดูแลอย่างรวดเร็ว