posttoday

มาตรการขาเดียว เศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน

16 มีนาคม 2563

ไวรัสโควิด 19 พ่นพิษเศรษฐกิจไทยอย่างสาหัส จนนักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ดิ่งเหวถึงขั้นขยายตัวติดลบ

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

................................

ถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทยเอาไม่อยู่กับการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด 19 (COVID-19) จนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทุกหย่อมหญ้า และมีแนวโน้มรุนแรงและขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น

การขยันขันแข็งของรัฐบาล ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด 19 ในช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ไวรัสโควิด 19 ลามหนักที่ผ่านมารับมือไม่ไหวเอาไม่อยู่ จากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มก้าวกระโดดขึ้นทุกวัน ทำให้ประชาชนผวากันทั้งประเทศ หยุดไม่ได้ห้ามไม่อยู่ซื้อของตุนกันโกลาหลทั้งเมือง เพราะเชื่อว่าไทยคงไม่รอดการระบาดไวรัสโควิด 19 ในระยะที่ 3 ไม่ช้านี้

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยตอบสนองกับการระบาดของไวรัสโควิดจนเป็นสัปดาห์หุ้นวิปโยค ดัชนีหุ้นดิ่งลงต่ำกว่า 1,000 จุด และต้องหยุดทำการซื้อขายชั่วคราว 2 วันติด โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องแถลงเรียกความเชื่อมั่นวันละหลายรอบ ถึงขนาดออกบทวิเคราะห์บอกชื่อหุ้นปันผลดีเพื่อให้นักลงทุนซื้อดันตลาดหุ้นที่ทรุดหนัก

ขณะเดียวกันรัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็ประกาศตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้าน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอาเงินภาษีไปอุ้มคนรวย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจก็ต้องช็อค เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลงอีกครั้งจาก 1.4% เป็นติดลบ 0.4% หลังการที่การะบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ระบาดในภูมิภาคหนึ่ง ได้กลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลกหรือ Pandemic ส่งผลกระทบต่อไทยรุนแรง เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก

กลุ่มเกียรตินาคิน ยังมองว่า เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งหมายถึงการหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน จึงคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปวันที่ 25 มีนาคม 2563 จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ลงไปที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% เพื่ออุ้มเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก

หลังจากนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ตามมาติดๆ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% จากประมาณการเดิมที่ 1.8% และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) ในช่วงครึ่งแรกของปี

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยรุมเร้า ได้แก่ การหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกซึ่งจะส่งผลให้รายได้และการจ้างงานของแรงงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมลดต่ำลง ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปกติซึ่งกระทบต่อรายได้ของภาคเกษตร และงบประมาณจากภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายได้ต่ำในช่วงไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณรายจ่าย

จะเห็นว่าการประเมินเศรษฐกิจล่าสุดของทั้ง 2 แห่ง บอกชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ได้เผาจริงเท่านี้ แต่ล้มทั้งยืน เพราะมาตรการรัฐบาลที่ออกมามีส่วนช่วยเศรษฐกิจได้น้อยมาก และปัญหาที่รัฐบาลมีอยู่เดิมก็แก้ไม่ตก ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตอนนี้แทบจะหยุดทำงานทุกเครื่องยนต์

หลังจากนี้ เชื่อว่า จะมีสำนักวิจัยเศรษฐกิจออกมาปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ติดลบต่อเนื่อง ส่วนจะลบมากหรือลบน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว เพราะจากเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้แต่ตีลังกากลับมาดิ่งเหลวติดลบ เป็นเรื่องที่รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานรับมือไวรัสโควิด 19 ล้มเหลว และการออกมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่ได้ผล

สาเหตุสำคัญของความล้มเหลว ก็มาจากการทำงานของรัฐบาลที่ยังต่างคนต่างทำ กระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งานคุมไวรัสโควิด 19 ถึงวันนี้ต้องบอกว่าไม่เป็นกระบวนท่า โรงพยาบาลเอกชนไม่รับรักษาโควิด 19 กระทรวงสาธารณะสุขก็ทำไรไม่ได้

กระทรวงคมนาคม ที่ดูแลการสนามบิน การคมนาคมขนส่ง ล้มเหลวการคัดกรองไวรัสโควิด 19 ที่เดินทางเข้าออกประเทศ จนวันนี้คนติดเชื้อพุ่งเป็นเท่าตัว

กระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องพูดว่าล้มเหลวขนาดไหน แค่การแก้ไขหน้ากากอนามัยขาดแคลนยังทำไม่ได้ จนล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งเด้งผู้บริการกระทรวงพาณิชย์ ที่ปล่อยให้หน้ากากอนามัยในประเทศขาดแคลน แต่กลับให้มีการส่งออกนอกประเทศได้หลายสิบล้านชิ้นในเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา

จะเห็นว่า การแก้ไขการระบาดไวรัสโควิด 19 ถึงมีมาตรการหลายขา แต่เป็นมาตรการที่ขาของแต่ละคนแต่ละหน่วยงานต่างเดินไปคนละทิศละทาง ไม่ได้ประสานเป็นหนึ่งให้เกิดพลังและเอกภาพในการแก้ปัญหาอย่างที่ควรเป็น

มาถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ก็ต้องบอกว่า เป็นมาตรการขาเดียว และเป็นมาตรการขาเป๋อีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1.5 แสนล้านบาท ในภาวะที่เศรษฐกิจหยุดนิ่งตายสนิทเช่นนี้ ธุรกิจไหนก็คงไม่มีใจมากู้เงิน ถึงให้ดอกเบี้ยต่ำขนาดไหนก็ตาม

ส่วนมาตรการภาษี ให้หักลดหย่อนภาษี เช่น หากไม่เลิกจ้างงานให้นำรายจ่ายภาษีได้ 3 เท่า นั้น ปัญหาในทางปฏิบัติจริงจะมีผู้ประกอบการสักกี่รายยอมจ้างคนงานส่วนเกินไม่มีความจำเป็น เพื่อได้หักลดหย่อนภาษี 3 เท่า ซึ่งภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็อยู่ในอาการสาหัสบัญชีติดตัวแดงขาดทุน ดังนั้นมีความจำเป็นอะไรที่ต้องจ้างคนงานที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

จะเห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมา มีแต่มาตรการเงินการคลังเท่านั้น ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นหัวเรือใหญ่ ส่วนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจอื่น จะมีก็แต่กระทรวงพลังงาน ในส่วนของกระทรวงคมนาคม หรือ กระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่เห็นมีมาตรการที่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

หรือแม้แต่นโยบายการเงินของกระทรวงการคลังที่รับผิดชอบ ก็ยังมาแบบขาดๆ เกินๆ เช่น การแจกเงินคนละ 2 พันบาท โดนสังคมวิจารณ์ยับเยินว่า คิดอะไรไม่ออกได้แต่แจกเงิน จนต้องตัดมาตรการดังกล่าวทิ้ง ส่วนมาตรการการเงินเรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ดูดำเนินการได้ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์ ต่างประเทศหั่นดอกเบี้ย 0.5% เป็นการเร่งด่วนอุ้มเศรษฐกิจที่เจอพิษไวรัสโควิด 19

แต่ในส่วนของ ธปท. ยังขอดูสถานการณ์ กว่าจะประชุมกันอีกครั้ง 25 มี.ค. 2563 ทำให้เกิดคำถามว่า หากประชุมวันนั้นต้องลดดอกเบี้ย จาก 1% เหลือ 0.75% หรือเหลือ 0.5% และทำไมไม่ทำเป็นการด่วนตั้งแต่วันนี้

ทั้งหมด เป็นปัญหาที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีอย่างหนัก ว่า เอาไวรัสไม่อยู่ เอาเศรษฐกิจไม่ไหว เพราะรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ มาตรการที่ออกมาขาเดียว ขาเป๋ ทำให้เศรษฐกิจไทยล้มทั้งยืน

ยังไม่รวมกับระเบิดเวลาลูกใหม่ การตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้านบาท ที่ถูกโจมตีว่าอุ้มคนรวย และรัฐบาลจะจนมุมดิ้นไม่ออกว่าทำไมตั้งกองทุนพยุงหุ้นแสนล้านได้ข้ามวัน แต่ทำไม่กองทุนที่จะมาต่อสู่กับไวรัสโควิด 19 ที่เป็นเรื่องใหญ่กว่าเกิดการระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 เดือน ยังไม่เห็นมีการพูดถึงอย่างเป็นจริงเป็นจังเหมือนการตั้งกองทุนพยุงหุ้น

วิกฤตไวรัสโควิด 19 ที่ลามกินเศรษฐกิจจนล้มทั้งยืนเอาไม่อยู่เดินหน้าต่อไม่ได้ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยกเครื่องใหญ่ทีมรัฐบาล ทีมเศรษฐกิจ เพราะการแก้ปัญหาวิกฤตด้วยคนกลุ่มเก่า วิธีคิดแบบเก่า มาตรการเก่าที่ไปแต่งหน้าทาปากมาใหม่ ไม่ได้ผลแล้วอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ทั้งหมดเป็นแรงกดดันอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว ว่าจะผ่าตัดใหญ่ทีมรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจเมื่อไร เพราะยิ่งทำช้าเศรษฐกิจยิ่งพังมากขึ้นเท่านั้น