posttoday

SCB มองตลาดหุ้นโลกผันผวน ปัจจัยผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มในต่างประเทศ

25 กุมภาพันธ์ 2563

รายงานผลวิเคราะห์ จาก SCB Chief Investment Office เผยว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 - 21ก.พ.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในต่างประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ยังรวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 76 เดือน จากระดับ 53.3 ในเดือนมกราคม

ขณะที่ตัวเลข GDP ในไตรมาส 4/2019 ของไทย ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 21 ไตรมาส อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีฯ ได้รับแรงหนุน หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งรวมถึง การที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้อัดฉีดสภาพคล่องข้าสู่ระบบรวม 2.5 ล้านล้านหยวน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ระยะ 1 ปีลง 0.1% สู่ระดับ 4.05% และระยะ 5 ปี ลง 0.05% สู่ระดับ 4.75% ด้านราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เนื่องจาก ความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

SCB มองตลาดหุ้นโลกผันผวน ปัจจัยผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มในต่างประเทศ

สำหรับมุมมองของ SCB ในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในต่างประเทศ โดยฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี ทำให้นักลงทุนกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลง สร้างภาวะ Risk-Off (ขายสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย) บ่งชี้จาก ดัชนีความกลัวความเสี่ยงของนักลงทุน (VIX Index) ที่ปรับเพิ่มขึ้น การเกิดภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 เดือน อยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (Inverted Yield Curve)

และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี ปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะประเทศในโซนเอเชียที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มทำให้ ดอลลาร์ สหรัฐฯ แข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจ

โดยคาดว่า PBoC มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึง การที่ PBoC อาจจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลงเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย LPR ปรับลดลงตาม และอาจจะมีการปรับลด RRR ลงอีกเช่นกัน สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจาก เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง และติดตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายนอกสภาฯ เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของไทย (24-26 ก.พ.)
  • ติดตามผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครต ในรัฐ South Carolina (29 ก.พ.) เพื่อหาตัวแทนพรรค เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Super Tuesday (3 มี.ค.)
  • การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2019 รวมทั้งการให้มุมมองต่อผลประกอบการในระยะถัดไปปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้? ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยอดขายบ้านใหม่ GDP ไตรมาส 4/2019 (ครั้งที่ 2) ของสหรัฐฯ, ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (IFO) และ GDP ไตรมาส 4/2019 (ครั้งสุดท้าย) ของเยอรมนี, ยอดค้าปลีกของอังกฤษ และญี่ปุ่น, อัตราเงินเฟ้อของยุโรป? เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของไทย ผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรค Democrat ในรัฐ South Carolina และการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4/2019