posttoday

ธปท.ชี้สถาบันการเงินไทยเสี่ยงหนี้เสียและทำหนี้ครัวเรือนสูง

23 ธันวาคม 2562

ธปท. ชี้สถาบันการเงินไทยยังเสี่ยงปล่อยกู้อสังหาและหนี้ครัวเรือนสูง และยังมีการกู้เพื่อเก็งกำไรให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ธปท. ชี้สถาบันการเงินไทยยังเสี่ยงปล่อยกู้อสังหาและหนี้ครัวเรือนสูง และยังมีการกู้เพื่อเก็งกำไรให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิด ผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) วันที่ 16 ธันวาคม 2562 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงอย่างไรก็ดี ระบบการเงินไทยยังคงมีจุดที่สะสมความเปราะบางภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว และภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก 4 เรื่อง ดังนี้

1. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปียังขยายตัว โดยสินเชื่อสำหรับผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก (ผ่อนสัญญาเดียว) ไม่ได้รับผลกระทบจากหลักเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ loan to value: LTV) โดย LTV ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี สัญญาณการเก็งกำไรและความไม่สมดุลในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับลดลงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรการ LTV กล่าวคือ

(1) สถาบันการเงินมีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่รัดกุมขึ้น สะท้อนจากค่าเฉลี่ย LTV ที่ลดลงสำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไป

(2) การเก็งกำไรชะลอลง สะท้อนจากจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่สัญญาที่ 2 ขึ้นไปของ ธพ. ที่ลดลง โดยการลดลงในไตรมาสที่ 3 มีสัญญาณชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 และ

(3) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ การปรับตัวนี้จะช่วยให้อุปทานคงค้างปรับลดลงต่อไปและตลาดที่อยู่อาศัยเข้าสู่ภาวะสมดุล

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะเห็นอุปทานคงค้างในบางพื้นที่ลดลงช้ากว่าตลาดโดยรวมเพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างชาติและมีอุปทานคงค้างอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ อีกทั้งผู้ประกอบการรายเล็กปรับตัวได้ช้ากว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ติดตามการปรับตัวของตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาวะอุปทานคงค้างในตลาดอาคารชุดซึ่งอุปทานใช้เวลาปรับตัวนานกว่าแนวราบ

2. สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจ SMEs ยังคงน่ากังวล โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนหนึ่งเพราะ ธพ. และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคาร (non-banks) ยังขยายการปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จึงต้องติดตามครัวเรือนบางกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบด้านรายได้ เช่น จากการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ขณะเดียวกัน คุณภาพของสินเชื่อธุรกิจ SMEs ด้อยลงต่อเนื่อง โดยปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพเริ่มขยายวงจากธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเดิมมีความเปราะบางสูงไปสู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวและธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ประชุมเห็นว่าการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและต้องดำเนินการแบบองค์รวมทั้งในเชิงป้องกันและเชิงแก้ไข รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาอยู่เดิม โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมตามความสามารถในการชำระหนี้และการดำรงชีพของผู้กู้ รวมทั้งขอให้ดูแลลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มเห็นสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงเพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคตและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ SMEs กลุ่มที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราวเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้

นอกจากนี้ ธปท. ร่วมกับบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้รายเดียวและที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีด้วย ในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นควรศึกษาหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพในวงที่กว้างขึ้น

3) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบการสะสมความเปราะบางทั้งด้านการระดมทุนและพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) กล่าวคือ

(1)ภาคธุรกิจออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high-yield bonds) เพิ่มขึ้นในภาวะที่ ธพ. ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจ และกองทุนตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุโครงการ (term funds) ที่ลงทุนต่างประเทศมีการลงทุนกระจุกตัวสูงในบางประเทศและผู้ออกตราสารบางราย ซึ่งส่วนใหญ่ของตราสารเหล่านี้ถือครองโดยนักลงทุนบุคคลซึ่งอาจไม่ได้รับข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อย่างครบถ้วน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงได้ยกระดับการกำกับดูแลกองทุนรวมและการออกตราสารหนี้ รวมทั้งมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยปรับหลักเกณฑ์การเสนอขายและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเพียงพอและคำแนะนำที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภท

(2) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ระดมทุนโดยเฉพาะผ่านการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงกระจุกตัวในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่สูงขึ้น กอปรกับการประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทำได้ยาก เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจและการเงินมีความซับซ้อน การดูแลความเสี่ยงในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ด้านธุรกิจประกันภัยยังเผชิญแรงกดดันด้านการทำกำไรในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยได้ปรับตัวทั้งด้านสินทรัพย์ลงทุนและการออกผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองแทนการรับประกันผลตอบแทนมากขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อช่วยการปรับตัวของธุรกิจประกันภัย ทั้งการปรับเกณฑ์ด้านการลงทุนให้สามารถขยายการลงทุนไปสู่นอกภูมิภาคอาเซียน และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อรองรับการปรับตัวด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มุ่งไปสู่การให้ความคุ้มครองมากขึ้น

4) ความเชื่อมโยงภายในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากการรับฝากและปล่อยกู้ระหว่างกัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำคัญในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่พฤติกรรม search for yield ยังมีต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งผลักดันกฎกระทรวงประกอบพระราชบัญญัติสหกรณ์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่อง และการก่อหนี้ของลูกหนี้สมาชิก ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ที่ประชุมประเมินว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ความเสี่ยงในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ขยายตัวชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนานขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน ที่ประชุมเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการใน 4 ประเด็นข้างต้นอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วและศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมเพื่อดูแลความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. จะร่วมกันประเมินและติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบกับเสถียรภาพระบบการเงินไทย