posttoday

จับตาการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยและการเกินดุลการค้า

23 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.10-30.50 ในสัปดาห์นี้ ประเมินว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามปัจจัยในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการประกาศการส่งออกไทยเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดยังคงประเมินว่าการส่งออกจะยังคงหดตัวต่อเนื่องจากผลของมาตรการภาษีสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงกดดันการส่งออก

ทั้งนี้ หากตัวเลขดุลการค้ายังคงเป็นการเกินดุลอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เงินบาทยังคงทิศทางการแข็งค่า เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนั้น บันทึกจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นปัจจัยต่อการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ ซึ่งประเมินว่าสาระสำคัญจากบันทึกจะยังแสดงถึงจุดยืนในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้เฟดจะประเมินว่าความเสี่ยงของโลกลดลง แต่คาดว่าเฟดจะยังแสดงความกังวลด้านแรงกดดันเงินเฟ้อที่ต่ำ

เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้โดยรวมแล้ว เงินบาทไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนมากนัก ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าตามทิศทางของเงินหยวนและเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียส่วนใหญ่ เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนสามารถตกลงการค้าระยะที่ 1 ได้สำเร็จ แต่ยังไม่มีการประกาศกำหนดการลงนามและรายละเอียดข้อตกลงทางการค้า ทำให้นักลงทุนต่างสับสนต่อแนวทางการเจรจาระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในวันพุธ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ต่อไปซึ่งตรงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งธนาคารยังลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยทั้งปี 2019 และ 2020 ลงด้วย โดยส่งสัญญาณว่าพร้อมจะดำเนินโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจต่อไป

ส่วนธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% แต่ประเมินว่าจีดีพีไตรมาสที่ 4 จะขยายตัวเพียง 0.1% ลดลงจากการประมาณครั้งก่อนในเดือนพฤศจิกายนที่ 0.2% สะท้อนการลงทุนภาคธุรกิจและการส่งออกที่อ่อนแอลง ด้านแนวโน้มการดำเนินโยบายการเงิน แถลงการณ์ชี้ว่าบีโออีพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากเศรษฐกิจโลกชะลอลงต่อเนื่องและความเสี่ยง Brexit ยังสูง และธนาคารกลางของญี่ปุ่นมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ในระดับใกล้ 0% เช่นเดิม อีกทั้งคงเป้าหมายปริมาณมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของญี่ปุ่นที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ขณะที่ประเมินว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.175 (ณ 16.26 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นสำคัญอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ1.25% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ พร้อมกันนี้ได้มีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2019 ลงมาขยายตัวที่ 2.5% จาก 2.8% และปี 2020 ลงมาขยายตัวที่ 2.8% จาก 3.3% โดยมีปัจจัยฉุดจากการบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และการส่งออกที่ยังอ่อนแอ

ทั้งนี้จากสถานการณ์ปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ที่ระดับนี้ หรือไม่ก็อาจมีการปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1 ครั้งในปีหน้า ส่วนประเด็นใหญ่ที่เราเฝ้าติดตามก็ได้คลี่คลายไปบางส่วนทั้งในเรื่องที่สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่หนึ่ง แต่ตลาดยังรอรายละเอียดของข้อตกลงที่คาดว่าจะมีการลงนามในเดือนมกราคมนี้ รวมไปถึงประเด็นที่พรรค Conservatives ของนายจอห์นสัน ชนะการเลือกตั้ง โดยมีที่นั่งในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งอยู่ที่ 365 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 47 ที่นั่ง ทำให้ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะออกจากยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงลดลง แต่ก็มีประเด็นที่รัฐบาลชุดใหม่จะออกกฎหมายป้องกันการขยายช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้สหราชอาณาจักรจะมีเวลาเพียง 11 เดือนก่อนหมดช่วงเปลี่ยนผ่านในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป สร้างความกังวลกับตลาดว่าท้ายสุดแล้วสหราชอาณาจักรจะสามารถทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปได้ทันสิ้นปีหน้าหรือไม่

สำหรับความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงเกือบตลอดทั้งเส้นอัตราผลตอบแทน โดยเราคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเคลื่อนไหวทรงตัวไปจนถึงปลายปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสและปีใหม่ โดย ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.23% 1.21% 1.26% 1.33% 1.41% และ 1.58% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 7,875 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7,308 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 467 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 100 ล้านบาท