posttoday

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 1,374 ล้านหุ้น

18 ธันวาคม 2562

ระดมทุนขยายงานทั้งในและต่างประเทศ ปรับโครงสร้างทางการเงินพร้อมรองรับขยายธุรกิจในอนาคต

ระดมทุนขยายงานทั้งในและต่างประเทศ ปรับโครงสร้างทางการเงินพร้อมรองรับขยายธุรกิจในอนาคต


บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) บริษัทย่อยของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 โดยจะออกและเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 1,374 ล้านหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ เพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ทั้งในและต่างประเทศให้เติบโต รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน SCGP มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและครอบคลุมทุกด้าน โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 2 ธุรกิจหลัก

1.สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ที่มีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมและหลากหลายกว่า 120,000 รายการ (SKUs)ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีโอกาสที่ดีในการเติบโต โดยสินค้าหลักในกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก บรรจุภัณฑ์กล่องพิมพ์สีเพื่อแสดงสินค้า เพื่อส่งเสริมแบรนด์ลูกค้า บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป เพื่อรักษาและปกป้องสินค้า รวมถึงกระดาษบรรจุภัณฑ์ ถุงกระดาษรีไซเคิลสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และถุงอุตสาหกรรม

2.สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ ซึ่งประกอบไปด้วย ผลิตภัณฑ์ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ “เฟสท์”(Fest)ที่มีรูปแบบดีไซน์สวยงามและฟังก์ชั่นที่เหมาะกับการใช้งานของผู้บริโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ ยิ่งไปกว่านั้น SCGP ยังให้บริการโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการพิเศษของลูกค้า ได้แก่ โซลูชันด้านการออกแบบและการพิมพ์ โซลูชันสำหรับงานย่อย โซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกผู้บริโภค โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ โซลูชันสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซลูชันสำหรับการจัดแสดงสินค้าและส่งเสริมการตลาด โซลูชันสำหรับกลุ่มสินค้าและบริการภายใต้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภาพรวมตลาดบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค SCGP

บริษัทวางแผนงานขยายธุรกิจเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมี 6 กลยุทธ์หลัก

1.เพิ่มสัดส่วนการขายบรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

2.นำรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จของ SCGP ในประเทศไทยไปขยายในต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการบูรณาการทั้งในแนวตั้งและแนวนอนเพื่อสร้างความใกล้ชิด
ระหว่าง SCGP กับลูกค้า และมีส่วนร่วมกับลูกค้าในด้านต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

3.ดำเนินการตามกลยุทธ์การควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างประโยชน์จากการผนึกกำลังระหว่างธุรกิจภายใน
SCGP

4.ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงขยายฐานลูกค้าใน
ตลาดที่มีการเติบโตสูง

5.เพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

6.เป็นต้นแบบ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคและสนับสนุนแนวทางดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2561 ของ SCGP มีรายได้รวมจากการขายทั้งสิ้น 87,255 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 7.1% แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากการขายแบ่งตามที่ตั้งของลูกค้าในประเทศไทย 61 % และต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 39 % และมีกำไรสุทธิ 6,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 % เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารจัดการต้นทุนภายในด้านต่าง ๆ โดยในปี 2562 บริษัทได้ขยายธุรกิจโดยการควบรวมกิจการในภูมิภาคด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท


น.ส.วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SCGP หุ้นไอพีโอจำนวน 1,374 ล้านหุ้น แบ่งเป็น (1) จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 1,194.80 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 27.7 %ของจำนวนหุ้น สามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCGP ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ไม่รวมกรีนชู หรือจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก SCGP ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน

และ (2) อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) จำนวนไม่เกิน 179.20 ล้านหุ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15 % ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้