posttoday

คลังปลื้ม"เอสแอนด์พี" ปรับoutlookไทย เชิงบวก

12 ธันวาคม 2562

รมว.คลัง เผย สถาบันจัดอันดับ เอสแอนด์พี ปรับ Outlook ของไทยดีขึ้นจากระดับมีเสถียรภาพ เป็น เชิงบวก

รมว.คลัง เผย สถาบันจัดอันดับ เอสแอนด์พี ปรับ Outlook ของไทยดีขึ้นจากระดับมีเสถียรภาพ เป็น เชิงบวก

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2562 เวลาประมาณ 16.30 น. บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 รวมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2 โดยมีปัจจัยด้านบวกของประเทศไทยมาจาก (1) ภาคการคลังที่แข็งแกร่งและระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ (2) ฐานะการเงินระหว่างประเทศและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง (Solid External Balance Sheet and Liquidity) (3) การด่าเนินนโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และ (4) การมียุทธศาสตร์ชาติก็เป็นสิ่งที่ดี รวมทั้งการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่น่าจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดี มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability) ที่น่าจะส่งผลดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ (Economic Reform) และการบริหารงาน (Public Administration) เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อจากนี้ไป บริษัท S&P ประเมินว่า ควรต้องติดตามผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน ที่มีต่อภาคการส่งออกของไทย

ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นน่าต่าง ๆ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) และบริษัท Moody's Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เป็นเชิงบวก (Positive) และยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่ระดับ BBB+ และ Baa1 ตามลำดับ และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 บริษัท Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยดีขึ้นจากระดับ BBB+ มาเป็น A- สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ การปรับมุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยของสถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นน่าต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) ต่อไป เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในอนาคต