posttoday

มาตรการกระตุ้นศก.ซ่อนเร้น "แจกเงินหาเสียง หว่านเงินให้อสังหา"

27 พฤศจิกายน 2562

ในภาวะเศรษฐกิจทรุกหนัก รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นหาเสียงและเอื้อกลุ่มทุนเป็นสำคัญ

ในภาวะเศรษฐกิจทรุกหนัก รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นหาเสียงและเอื้อกลุ่มทุนเป็นสำคัญ

....................................

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ไม่ต้องรอกันนานให้เสียเวลาสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบใหม่

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2562 ถึงจะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพราะติดภารกิจไปต่างประเทศ แต่ ครม. ก็เห็นชอบ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562"

แค่ชื่อของมาตรการก็สื่อความหมายว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยยังจะมีต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่ก้อนโตให้ประชาชน นักลงทุนกันอีกรอบภายในสิ้นปีนี้

เมื่อมาดู "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2562" ประกอบด้วย 3 ชุดมาตรการสำคัญ

มาตรการชุดแรกที่อยากจะให้พิเคราะห์พิจารณากัน มาตรการช่วยเหลือชาวนา ที่มีการแจกเงินค่าเก็บเกี่ยวข้าวปีการผลิต 2562/63 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมี 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือจนถึง 30 ก.ย.2563 ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้ดำเนินการทดรองจ่ายให้ก่อน 28,000 หม่นล้านบาท และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตกแจกเงินชาวนาเพื่อการเพาะปลูกที่จ่ายไปก่อนหน้านี้ แต่ยังมีชาวนาบางกลุ่มไม่ได้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

เหมารวมแล้วมาตรการแจกเงินชาวนารอบนี้ของรัฐบาลใช้เงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นคนละส่วนกับมาตรการประกันรายได้ชาวนา ที่มีการแจกเงินกันไปก่อนหน้านี้บางส่วนแล้ว

การคลอดมาตรการ แจกเงินชาวนาเป็นค่าเก็บเกี่ยว และช่วยค่าเพาะปลูกข้าว ถือเป็นมาตรการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี รวม.คลัง นั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลักดันมาตรการนี้ออกมา

ดังนั้นมาตรการดังกล่าวจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นมาตรการแจกชาวนาหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เพราะถึงแม้ว่ามาตรการประกันรายได้ชาวนาจะช่วยเหลือความบรรเทาเดือนร้อนเกษตรกรได้รับดับหนึ่งแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผลงานที่ออกมาจึงเป็นคะแนนเสียงของพรรค ปชป.

ส่งผลให้ ครม. ต้องเห็นทุ่มเงินภาษีถึง 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแจกเงินชาวนาเพิ่ม เป็นการแจกแบบให้กันฟรีๆ ง่ายๆ ไม่ต้องออกแรง เพราะ พปชร. ต้องการได้เสียงได้ใจจากมาตรการนี้ หลังจากโดน ปชป. ขโมยซีนเอาความดีความชอบจากเกษตรทิ้งไปหลายช่วงตัว

มาตรการชุดที่สอง ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่าชุดแรก คือ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ในโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” โดยรัฐบาลจะช่วยผ่อนดาวน์ให้คนซื้อบ้านให้ 50,000 บาท จำนวน 100,000 ราย ขอให้ซื้อบ้านใหม่จากโครงการที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ออกอีก 2.8 แสนยูนิต ปลดล็อกไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านหลังแรก จะซื้อบ้านหลังที่เท่าไรก็ได้ ขอให้ซื้อให้ไวได้รัฐแจกเงินทันที ใครมาก่อนได้ก่อนเต็มแล้วหมดเลย

มาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” จึงเป็นมาตรการหว่านเงินให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากกว่าช่วยให้คนไทยมีบ้านอยู่ เพราะมาตรการที่ออกมารัฐบาลไม่สามารถการันตีอะไรได้เลยว่าบ้านที่ไปซื้อจะถูกลง หรือราคาเท่าเดิมไม่ได้ถูกปรับขึ้น เพื่อใหผู้ประกอบการอสังหาฯ มาทำส่วนลดการตลาดในภายหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นการลดจริง

มาตรการ “บ้านดีมีดาวน์” ใช้เงินถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนคนซื้อบ้านได้ประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์มากกว่า คือ ผู้ประกอบการอสังหาที่สร้างบ้านมาล้นตลาดเกินความต้อง อยู่ดีก็ส่มหล่นเข่งใหญ่รัฐบาลใจปล้ำออกเงินค่าดาวน์บ้านคนละ 50,000 บาท เพื่อไปซื้อบ้านจากผู้ประกอบการอสังหาที่ตอนนี้เหมือนสวรรค์หล่นทับ

ต้องขอย้ำว่า การแจกเงินให้คนซื้อบ้านคนละ 50,000 หมื่นบาท เป็นเงินจำนวนมากที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และถ้าต่อไปผู้ประกอบการรถยนต์บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีรถยนต์ผลิตมาขายไม่ออก อยากให้รัฐบาลช่วยออกเงินดาวน์ให้ผู้ซื้อรถคันละ 5 หมื่นบาท รัฐบาลจะว่าจะอย่างไร เพราะในเมื่อรัฐบาลอุ้มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ แล้วรัฐบาลจะปฏิเสธผู้ประกอบการรถยนต์ด้วยเหตุผลอะไรได้

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 ต้องถือเป็นมาตรการเก่ามาปัดฝุ่นทำซ้ำใหม่กันจนนับครั้งไม่ถ้วน คือการแจกเงินกองทุนหมู่บ้าน 71,742 แห่ง แห่งละไม่เกิน 200,000 บาทวงเงินรวม 14,348 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้ ธ.ก.ส. ปล่อนสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นค่าลงทุนโดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.01% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2565

แถมด้วยโครงการพักชำระหนี้สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน1 ปี ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ที่น่าเป็นข้อสังเกตมากที่สุดสำหรับมาตรการกระตุ้นชุดใหม่ทั้งหมด ใช้เงินงบประมาณ 33,000 ล้านบาท รัฐบาลคาดว่าจะทำให้เงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 80,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีแค่ไหนอย่างไร