posttoday

อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด คาดจีดีพีไทยปี 63 โต 2.5-3%

27 พฤศจิกายน 2562

ให้เป้าหุ้นไทยปี 63 แตะ 1,700 จุด ขานรับแนวโน้มศก.ฟื้น ส่วนปี 62 คาดดัชนีปิดที่ 1,600 จุด

ให้เป้าหุ้นไทยปี 63 แตะ 1,700 จุด ขานรับแนวโน้มศก.ฟื้น ส่วนปี 62 คาดดัชนีปิดที่ 1,600 จุด

นายพงค์ธารินทร์ ทรัพยานนท์ หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) คาดจีดีพีไทยปี 63 จะเติบโตเฉลี่ย 2.5-3 % ผลจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตกลับมาฟื้นตัว เห็นได้จากดัชนีภาคการผลิตและการบริการ (PMI) ที่ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว รวมถึงไตรมาส 3/62 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนของเอกชน และภาครัฐ เช่น การลงทุนเครื่องจักร

ขณะที่ปี 62 นี้คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ระดับ 2.5% หลังช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 2.5% ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาส 4/62 จีดีพีจะทำได้เฉลี่ย 2.4%

อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด คาดจีดีพีไทยปี 63 โต 2.5-3% ออเสน การบริสุทธิ

นายออเสน การบริสุทธิ หัวหน้าฝ่ายตราสารทุน บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ดฯ คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยปี 63 อยู่ที่ระดับ 1,700 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตขึ้น โดยเลือกหุ้นกลุ่ม Defensive หรือกลุ่มที่ไม่ผันผวนไปตามตลาด เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ส่วนกลุ่มปิโตรเคมี จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบ ขณะที่กลุ่มพลังงานจะต้องดูสถานการณ์ราคาน้ำมัน สำหรับสิ้นปี 62 นี้ คาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะปิดที่ระดับ 1,600 จุด

นาย Govinda Finn นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มประเทศพัฒนาในเอเชีย และญี่ปุ่น บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ดฯ กล่าวว่าฝ่ายวิจัยฯได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกในช่วงปี 63-64 จะเติบโตเพียง 3.10% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4% เนื่องจากนโยบายความไม่ชัดเจน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการค้าและการลงทุน

"การคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยในช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก แต่ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกยังสามารถทรงตัวได้ในระดับดีโดยไม่เข้าช่วงภาวะถดถอย"

นาย Govinda Finn กล่าวสำหรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากของธนาคารกลางต่างๆ จะช่วยประคองเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ยังสามารถขยายตัวได้ในระดับต่ำ โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ถึงขั้นติดลบ

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ธนาคารกลางสหรัฐฯจะลดดอกเบี้ยตามกรอบที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้วางไว้ รวมถึงเชื่อว่าธนาคารกลางยุโรปคงจะใช้มาตรการดอกเบี้ยในทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน คาดว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยฝ่ายวิจัยคาดว่ายังคงไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ว รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางด้านภาคเทคโนโลยีของเกาหลีใต้และไต้หวัน อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้