posttoday

GEN Y ฝันหลงทางติดกับดักหนี้1.37ล้านล้านบาท

26 พฤศจิกายน 2562

ทีเอ็มบีสำรวจพบ GEN Y ฝันสลายจากการติดค่านิยม “ของมันต้องมี” เสียเงินเปล่า 1.37 ล้านล้านบาท เท่ากับสร้างรถไฟฟ้าเร็วสูงสามสนามบิน

ทีเอ็มบีสำรวจพบ GEN Y ฝันสลายจากการติดค่านิยม “ของมันต้องมี” เสียเงินเปล่า 1.37 ล้านล้านบาท เท่ากับสร้างรถไฟฟ้าเร็วสูงสามสนามบิน

ศูนย์วิเคราะห์ TMB Analytics เผยผลการศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคน GEN Y ส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคง อยากมีบ้าน รถ และเงินออม แต่ความเป็นจริงห่างไกล สาเหตุจากติดกับดักค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” ทำให้ในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ต้องเสียเงินรวมกันสูงถึง 1.37 ล้านล้านบาท เป็น 13% ของ GDP ซึ่งเทียบได้กับมูลค่าลงทุนใน EEC ในระยะ 5 ปี หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมแนะเพื่อให้ GEN Y มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น

"GEN Y 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ ซึ่งเป็นหนี้เสียคิดเป็น 7% ของยอด NPL รวม” จากข้อมูลจาก ธปท.พบว่า กลุ่ม GEN Y (อายุ 23 -38 ปี ) มีการกู้ 7.2 ล้านคน (50% ของ GEN Y ทั้งหมด) โดยมีภาระหนี้อยู่ที่ 4.23 แสนบาทต่อคน ที่น่าสังเกตคือ 20% ของ GEN Y ที่กู้หรือ 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ผิดนัดชำระ ซึ่งคิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ

เพียงเพราะทัศนคติเหล่านี้ ทั้งบริโภคนิยม-ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้องคิด-ความสุขซื้อได้ด้วยประสบการณ์ ที่เป็นที่มา “ของมันต้องมี” คุณนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ให้รายละเอียดถึงผลจากการสำรวจพฤติกรรมของ GEN Y บนโซเชียล

นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่าความหวัง “ของมันต้องมี” ก่อนอายุ 40 คือ อยากมีบ้าน (48%) รถยนต์ (22%) ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆมีไม่มาก (13%) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ GEN Y เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา พบว่ามียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า “ของมันต้องมี” ถึง 69% ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝันมีสัดส่วนที่ลดลงมาก รวมทั้งสัดส่วนเงินออมมีไม่ถึง 10%

โดยเฉลี่ย GEN Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสนหรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ และถ้าขยายภาพให้ชัดเจนในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้เงินไปกับ“ของมันต้องมี” ถึงปีละ 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าสูงเทียบได้กับ 13% ของรายได้ประเทศ (GDP) หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ 91% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ EEC 5 ปี สาเหตุที่ GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอ้าท์ (42%) มากกว่ามองเป็นของจำเป็น (37%) แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ (70%) บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

นอกจากนี้ GEN Y มีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจาก GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่บอกจะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย

เมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่ นอกจากนี้ หากผ่าโครงสร้างทางการเงินของ GEN Y ที่มีการใช้จ่าย“ของมันต้องมี” จะสามารถแบ่ง GEN Y ได้เป็น 2 กลุ่มตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่ กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี” มักมีพฤติกรรมการใช้เงินก่อนออม โดยเมื่อมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน จะนำไปชำระหนี้และซื้อของอุปโภคบริโภคก่อน (60%) ส่วนที่เหลือค่อยเก็บเป็นเงินออม อีกทั้งมักเก็บเงินผิดที่ คือมีเงินกองอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้” ก็จะมีพฤติกรรมที่ตรงข้าม กล่าวคือกลุ่มนี้พอมีรายได้เข้ามา ก็จะกันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเงินออมเป็นสัดส่วนที่สูง (33%) ก่อนที่จะใช้จ่าย หรือพูดได้ว่าเป็น GEN Y ที่มีวินัยทางการเงิน อีกทั้งยังมีการวางแผนการออมและการลงทุนสะท้อนจากการมีเงินในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงและลงทุนในหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่น ๆ รวมแล้วเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

GEN Y จะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกที่แนะนำคือ ลดเงินที่ใช้กับ“ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% (เชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก) ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 43,000 บาทต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปีก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก