posttoday

ธ.ก.ส. ร่วมกับ สวทช. หนุนพัฒนานวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล

21 พฤศจิกายน 2562

ธ.ก.ส. จับมือ สวทช. นำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเกษตรกรไทย

ธ.ก.ส. จับมือ สวทช. นำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเกษตรกรไทย

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย “ความร่วมมือทางวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี” โดยมี นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. กับ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนาม เพื่อร่วมมือและส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมการเกษตรดิจิทัล สุขภาพการแพทย์สาธารณสุข สังคม และองค์กร โดยใช้กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือ Technology Development Groups (TDGs) นำไปวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ข้อมูล ต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมภาคเกษตรไทย

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ให้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อนำมาพัฒนากระบวนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีการส่งเสริมให้ปรับการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่ทันสมัย โดยการร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตร สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากงานวิจัยมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส. และ สวทช. ยังร่วมแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของทั้งสองฝ่าย ผ่านสื่อต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต การบริการทางการเงิน และบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป

นายณรงค์ กล่าวว่า สวทช. ดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ในการดำเนินงานระยะแรก สวทช. ได้สนับสนุนเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. อาทิ ด้านการเกษตร ได้แก่ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นระบบบริหารจัดการปฏิทินการเพาะปลูก “ชาวเกษตร”, ระบบ AquaGrow ซึ่งประกอบด้วย เครื่องวัดออกซิเจนละลายในน้ำ (DO Meter) เครื่องมินิมอลแลบ สำหรับใช้ติดตามสมดุลแบคทีเรีย และ อุปกรณ์สำหรับวัดสารเคมีในน้ำ (ChemEye) รวมทั้งระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ ระบบ IoT และระบบควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพืชผัก ด้านการเงิน ได้พัฒนาเครื่องสุ่มเชิงควอนตัม (RandomQ) สำหรับใช้ในการจับรางวัลพิเศษของกิจกรรมการจับรางวัลเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค และด้านสารสนเทศ นำระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform:
TPMAP) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า สำหรับใช้ในการพัฒนาคนตลอดทุกช่วงวัย โดยเริ่ม ที่การระบุปัญหาความยากจนและขยายเป็นเรื่องการพัฒนาคนมาใช้ เป็นต้น

ด้วยประสิทธิภาพและศักยภาพของกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือ Technology Development Groups (TDGs) รวมทั้งการผสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการเทคโนโลยีการเกษตร จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่คุณค่า และสร้างการเติบโตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ ทั้งพัฒนาสมรรถนะความสามารถและกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากภาคการผลิตสู่ภาคการตลาดและความยั่งยืนให้กับประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น การพัฒนานวัตกรรมการเกษตร พัฒนานวัตกรรมบริการดิจิทัล (Digital Service Innovation) และการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ด้วยข้อมูล (Strategic Data Analysis) เพื่อเพิ่มมูลค่าการบริการลูกค้าของ ธ.ก.ส. ให้ได้รับประโยชน์และเกิดการต่อยอดต่อไป