posttoday

อาฟเตอร์ช็อกเศรษฐกิจทรุด แบงก์ไทยพาณิชย์หั่นปีนี้่โตเหลือ2.5%

19 พฤศจิกายน 2562

แบงก์ไทยพาณชย์ ใจเด็ดไม่กลัวใครหั่นเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.5% ฟันธงภาคการผลิตของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย

แบงก์ไทยพาณชย์ ใจเด็ดไม่กลัวใครหั่นเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 2.5% ฟันธงภาคการผลิตของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2562 จาก 2.8% เหลือ 2.6% เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 3/2562 ขยายตัวได้ 2.4% และคาดเศรษฐกิจปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.7-3.7%

ล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 จาก 2.8% เหลือ 2.5% โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวประมาณ 2.6% โดยสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด อีไอซีคาดขยายตัว 2.7%Y ซึ่งเป็นผลจากภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมาก โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้าง และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยังรวมถึงการลดลงของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิต (manufacturing) ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อ ซึ่งน่าจะทำให้การฟื้นตัวของการจ้างงาน รายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยแม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวที่ 0.1% ในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล แต่ก็นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2018

อย่างไรก็ดี หากพิจารณา GDP ภาคการผลิต (Manufacturing) พบว่ายังอยู่ในภาวะ technical recession โดยล่าสุด ภาคการผลิตยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า -0.9% ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2019 (-1.7% และ -0.5% ในไตรมาสที่ 2) ซึ่งจากแนวโน้มการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการสะสมสินค้าคงคลังของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น อีไอซีมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะต่อไป

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าได้มีการหลุดออกจากภาวะ technical recession แล้ว โดยกลับมาขยายตัวได้ 1.0% หลังจากหดตัวสองไตรมาสติดในช่วงครึ่งปีแรกของปี อย่างไรก็ตาม การกลับมาขยายตัวได้ของการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่มาจาก การซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร (ขยายตัว 1.4% ) ในขณะที่ ภาคการก่อสร้างแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.1% (เทียบกับ 0.0% ในไตรมาสที่ 2/2019)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 อีไอซีมองว่าการส่งออกยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลงเนื่องจากได้รับอานิสงส์ปัจจัยฐานต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2562 จะหดตัวที่ 2.5%

ขณะที่เศรษฐกิจปี 2563 อีไอซีคงคาดการณ์ที่ 2.8% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากจากภาคส่งออกที่ยังคงมีหลายปัจจัยกดดัน รวมถึงการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลง จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีหน้า ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง