posttoday

บล.ภัทร รุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง

12 พฤศจิกายน 2562

เป้าหมาย เป็น Best Global Private Bank สำหรับคนไทย มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบถ้วนไม่แพ้ไพรเวทแบงก์ต่างชาติ 

เป้าหมาย เป็น Best Global Private Bank สำหรับคนไทย มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบถ้วนไม่แพ้ไพรเวทแบงก์ต่างชาติ 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในธุรกิจบริหารความมั่งคั่งที่เรียกว่า Wealth Management หรือไพรเวทแบงกิ้ง (Private Banking ) และถือได้ว่าเป็นองค์กรแรกที่บุกเบิกธุรกิจนี้ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2542 ที่ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ มาสู่การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน และนับจากจุดเริ่มดังกล่าว ธุรกิจได้เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 20 % จนปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA ) กว่า 7 แสนล้านบาท

 

บล.ภัทร รุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง

นางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานลูกค้าบุคคล และนายณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร ให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือ Private Banking ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าปัจจุบันมีเงินฝากทั้งระบบ 14 ล้านล้านบาท และในจำนวนดังกล่าวมี 7 ล้านล้านบาท ที่มียอดเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไปต่อบัญชี จึงเป็นโอกาสที่ภัทร จะเข้าไปเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ รวมถึงมีสินทรัพย์มากกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่ยังไม่อยู่ในการบริหารความมั่งคั่ง

ทั้งนี้ บล.ภัทร บริษัทตั้งเป้า 3 ปี(ปี 2563-2565) จะมีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 20 %ต่อปี

สำหรับลูกค้า Phatra Wealth Management ในปัจจุบัน คือ บุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual – HNWI) ผู้มีสินทรัพย์พร้อมลงทุนตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งจะได้รับการดูแลจากผู้ให้คำปรึกษาทางการเงิน (Financial Consultant – FC) อย่างใกล้ชิด

นอกจากนั้น นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา บล. ภัทรยังเปิดตัวบริการ Phatra Edge เพื่อให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ลูกค้ากลุ่ม Mass Affluent หรือผู้ที่มีมีสินทรัพย์พร้อมลงทุนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปอีกด้วย โดยลูกค้าส่วนใหญ่คือ ผู้ประกอบกิจการ ทายาทผู้สืบทอดกิจการ และกลุ่มวิชาชีพ เช่นแพทย์ ทนายความ คอนซัลแทนต์

เป้าหมาย

เป้าหมายของภัทร คือ การเป็น Best Global Private Bank สำหรับคนไทย กล่าวคือ การเป็นไพรเวทแบงก์ที่เข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของนักลงทุนไทยมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบถ้วนไม่แพ้ไพรเวทแบงก์ต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันบริการของบล. ภัทร จึงครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนทางการเงิน การให้คำปรึกษาด้านการลงทุนไปจนการให้คำปรึกษาเรื่องการสืบทอดกิจการ

ส่วนในด้านผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนก็ครอบคลุมทุกประเภทสินทรัพย์หลักตั้งแต่หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม กองทุน ETFs Structure Notes สินทรัพย์นอกตลาด (Private Market)หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์นอกประเทศ ผ่าน Global Investment Service ที่บล. ภัทร ทำโดยการเป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกหลากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น JP Morgan Asset Management, Goldman Sachs Asset Management, Société Générale, Blackrock, PIMCO หรือ Franklin Templeton

การแข่งขัน

ในต่างประเทศมีการประเมินกันว่าทรัพย์สินที่อยู่ภายในระบบของไพรเวทแบงก์คิดเป็นเพียง 1ใน 4 ของทรัพย์สินทั้งหมดของกลุ่มลูกค้า เนื่องจากลูกค้ายังถือสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไว้บริหารเอง

สำหรับในเมืองไทย ยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ แต่ประมาณการว่าทรัพย์สินของบุคคลธรรมดาที่ยังไม่อยู่ในระบบไพรเวทแบงก์มีขนาดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การดูแลของไพรเวทแบงก์ในปัจจุบัน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุนี้ธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งนี้จึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยหากสังเกต ท่ามกลางบรรยากาศการหดตัวรายได้ของธนาคารรายได้ในส่วนธุรกิจนี้กลับเพิ่มสูงขึ้น

สิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้บล.ภัทร ในการแข่งขัน

-Seamless Platform  ทั้งนี้ บล.ภัทรเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ดังนั้น จึงเอื้อต่อการให้บริการด้านการลงทุนกับลูกค้าได้โดยไร้ร้อยต่อ ต่างจากผู้ให้บริการที่เป็นธนาคาร ที่จำเป็นต้องมีผู้ถือใบอนุญาตนายหน้าการซื้อขายหลักทรัพย์มารับช่วงต่อ

แต่ในขณะเดียวกัน บล.ภัทร ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งทำให้บล.ภัทร มีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่ครอบคลุมฝั่งธนาคารด้วย อาทิ สินเชื่อลอมบาร์ด ผลิตภัณฑ์เงินฝากและการบริหารจัดการเงินสด /กลุ่มสินเชื่อไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้ารายใหญ่รวมถึงสินเชื่อลอมบาร์ด /ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ / และผลิตภัณฑ์ประกันสำหรับบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง

- Open Architecture  โดยบล.ภัทรมุ่งพัฒนาบริการให้เป็นการให้คำแนะนำทางการเงินที่ยึดถือประโยชน์ของลูกค้าเป็นที่ตั้งอย่างแท้จริง(advisory service)ไม่ใช่เพียงการใช้ธุรกิจนี้เป็นช่องทางขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของกลุ่มธุรกิจฯ ดังนั้น ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าคำแนะนำทางการเงินหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำเสนอ ได้รับการคัดเลือกมาอย่างเปิดกว้างเป็นกลางโดยไม่จำกัดด้วยเรื่องสังกัดของผู้ออกผลิตภัณฑ์

-Institutionalized Service  การให้คำแนะนำทางการลงทุนทั้งหมดของบล.ภัทรไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดส่วนตัวของ FC แต่มาจากส่วนกลางที่เรียกว่า Chief Investment Office ซึ่งวางแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม โดยมีพื้นฐานอยู่บนข้อมูลและบทวิเคราะห์คุณภาพ ทั้งจากบล.ภัทรและสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่งลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าคำแนะนำมีมาตรฐานสูงและจะบริการจะไม่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่เป็น FC

 

บล.ภัทร รุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง

พฤติกรรมนักลงทุน

-จากประสบการณ์การให้บริการ พบว่าผู้บริโภคกลุ่ม Mass Affluent จำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนโดยบางส่วนอาจออมเงินอยู่ที่ธนาคารเพียงอย่างเดียวซึ่งทำให้เสียโอกาส รวมทั้งสร้างความเสี่ยงจากการสูญเสียอำนาจซื้อ ในขณะที่ผู้บริโภคบางส่วน อาจเริ่มลงทุนโดยศึกษาด้วยตัวเองแต่ก็ไม่มีข้อมูลหรือองค์ความรู้สำหรับใช้ตัดสินใจที่เพียงพอทำให้การลงทุนไม่ประสบผลสำเร็จและไม่ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตในระยะยาว

สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ บล.ภัทรมีบริการ Phatra Edge ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการช่วยวางแผนทางการเงินเพื่อให้ลูกค้าบรรลุวัตถุประสงค์ในชีวิตในด้านต่างไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา สุขภาพ หรือการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

-สำหรับผู้บริโภคกลุ่ม High Net Worth หรือ Ultra High Net Worth พบว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีพื้นฐานการลงทุนที่ดี แต่มักมี Home Country Bias กล่าวคือ แนวโน้มที่จะลงทุนเฉพาะกับสินทรัพย์ในประเทศ เนื่องจากมีความคุ้นเคยมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศไทยยังมีความจำกัดในหลายมิติในแง่ของขนาด (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของตลาดหุ้นไทยเทียบแล้วเท่ากับ 0.6 % ของโลกเท่านั้น) ความหลากหลาย (ต่างประเทศมีอุตสาหกรรมหลายอย่างที่ไม่มีในไทยเช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ระดับสูง อุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรืออุตสาหกรรมเกี่ยวกับความมั่นคง) และความซับซ้อนของการลงทุน (การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางอย่างจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างกฎหมายที่ยังไม่มีในเมืองไทย เช่น structure notes หรืออนุพันธ์บางประเภท) ดังนั้น การลงทุนในตลาดไทยอย่างเดียวอาจทำให้มีความกระจุกตัวของความเสี่ยง และเสียโอกาสการลงทุน

สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ บล.ภัทรมีบริการ Global Investment Service (GIS) ซึ่งทำให้ลูกค้าคนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนหลักเกือบครบทุกประเภทเทียบเท่ากับไพรเวทแบงก์สากล

โดยเฉพาะล่าสุดบล. ภัทรได้ทำความตกลงกับ Private Equity Firm ระดับท็อบ 3 ของโลกที่จะช่วยเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถลงทุนใน Private Market หรือสินทรัพย์นอกตลาดซึ่งปกติไม่เปิดกว้างกับลูกค้าบุคคลทั่วไป เนื่องจากมีการมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่สูง และอาจมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นระยะเวลานาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด เช่น ในระยะเวลาที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15-20 %