posttoday

สินเชื่อบ้านธอส.ทะลุเป้า2.03แสนล้าน

04 พฤศจิกายน 2562

สินเชื่อบ้าน ธอส. เนื้อหอม รับอานิสงส์มาตรการรัฐดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 2.5% คาดครบ 5 หมื่นล้านบาท ต้นปีหน้า

สินเชื่อบ้าน ธอส. เนื้อหอม รับอานิสงส์มาตรการรัฐดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 2.5% คาดครบ 5 หมื่นล้านบาท ต้นปีหน้า

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2562 จะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.03 แสนล้านบาท โดยล่าสุดในเดือน ต.ค. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 1.69 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี จะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการสินเชื่อ ธอส.ประชารัฐ ดอกเบี้ย 2.5% วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และมาตรการลดค่าธรรมเนียมจำนอง และค่าธรรมเนียมการโอน ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ทำให้การปล่อยสินเชื่อจากนี้จะเร่งตัวขึ้น

สำหรับมาตรการสินเชื่อ ธอส.ประชารัฐ ที่เริ่มเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดวันที่ 4 พ.ย.2562 มีผู้เข้ามายื่นขอสินเชื่อแล้ว 1,769 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 3,609 ล้านบาท โดยธนาคารอนุมัติและ 810 บัญชี คิดเป็นวงเงิน 1,328 ล้านบาท ทำนิติกรรมแล้ว 302 ล้านบาท โดยธนาคารขอให้ผู้ที่สนใจเร่งเข้ามายื่นกู้ เนื่องจากวงเงินมีจำนวนจำกัดแค่ 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะหมดในช่วงเดือน ก.พ.2563 แม้ว่ามาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองจะหมดในช่วงสิ้นปี 2564 ก็ตาม

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ลดราคาบ้านลงอีก 5-10% เพื่อให้ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท จะได้เข้าร่วมมาตรการสินเชื่อของ ธอส. ได้ โดยหลังจากที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผล คาดว่าการยื่นกู้จะเร่งตัวตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 เมื่อเต็มวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีแผนจะขยายวงเงินเพิ่ม เนื่องจาก 5 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเงินจากการออกสลากออมทรัพย์ ธอส. มาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ และรัฐบาลชดเชยให้ 1,200 บาท

ขณะที่การออกสลากออมทรัพย์ล็อตต่อไปตามแผนคือช่วงไตรมาส 2/2563 จึงไม่สามารถนำมาใช้ปล่อยสินเชื่อได้ทัน และหากรัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าที่ประมาณ 4% สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้เงินจากสลากออมทรัพย์ 2.77%

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยในปี 2563 ธอส.คาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลง หรือ ทรงตัว ไม่น่าจะปรับขึ้น หลังจากที่ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องพิจารณาว่า ควรจะมีการลดดอกเบี้ยเท่าไหร่จึงจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในส่วนของดอกเบี้ย ธอส. ที่ 2.5% ถือว่าต่ำมากแล้ว แม้ กนง.จะลดดอกเบี้ย ก็คาดว่าไม่น่าจะลดดอกเบี้ยปล่อยกู้ใหม่ได้ต่ำกว่านี้อีก แต่น่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย MRR เท่านั้น ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงจะเป็นความท้าทายในสถาบันการเงินไทยในปีหน้า

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะไม่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดอยู่ 4.4% หรือประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ 4.3% โดยธนาคารจะเร่งกดลงมาให้ได้อีก 0.1-0.15% ภายใน 2 เดือนจากนี้ โดยแผนหนึ่งคือการบริหารเอ็นพีแอล แบบธนาคารเป็นตัวกลางให้ลูกค้า โดยตั้งวงเงินปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงเดือน ม.ค. 2563ที่ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับการทำกำไรในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท และในปี 2563 คาดว่าจะได้ 1.3 พันล้านบาท จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 2.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2562 ที่ 2.03 แสนล้านบาท

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง ล่าสุดปล่อยได้แล้ว 13,000 ล้านบาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 ล้านบาท จากวงเงินปล่อยกู้ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสินเชื่อตัวนี้คาดว่าจะได้รับความนิยม เพราะเป็นคนละส่วนกับมาตรการสินเชื่อ ธอส.ประชารัฐ โดยโครงการบ้านล้านหลัง มีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ที่3% ต่ำกว่า สินเชื่อประชารัฐ 5 ปีที่ 3.35%